top of page
รูปภาพนักเขียน.doc team

เครื่องเขินที่ไม่เดินหายไปตามกาลเวลา


หากพูดถึงภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น หลายๆคนคงนึกถึงงานศิลปะที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับศาสนา แต่หากลองมองย้อนและศึกษากลับไปแล้วนั้น เครื่องเขินได้อยู่คู่กับวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะกับคนล้านนาที่นับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของคนเชียงใหม่เลยก็ว่าได้


เครื่องเขินนั้นหมายถึง เครื่องใช้ในสมัยอดีต ที่สร้างรูปขึ้นมาจากการนำไม้ไผ่มาสาน ผ่านขั้นตอนการลงรัก โบกขี้เลื่อย ขัด และตกแต่งจนเป็นเครื่องใช้ที่สวยงาม และมีน้ำหนักเบา ที่มาของคำว่าเครื่องเขินนั้น สันนิฐานกันว่า มาจากการที่ชาวเขิน ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในอดีต ได้สร้างขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องขันโตก ขันตักน้ำ ไปจนกระทั่งพานใส่บาตรเพื่อไปทำบุญไว้พระ

โดยในปัจจุปัน มีอนุรักษ์และสืบถอดการทำเครื่องเขินจากอดีตอยู่จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือชุมชนหมู่บ้าน "ศรีปันครัว" ซึ่งส่วนใหญ่บ้านแต่ล่ะหลังจะประกอบอาชีพทำเครื่องเขิน โดยได้รับความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากแม่สู่ลูกจากย่าสู่หลาน จนกลายเป็นชุมชนที่มีเครื่องเขินเยอะเป็นอันดับต้นๆของจังหวัดเชียงใหม่ และหากเราได้ลองมองย้อนกลับไปถึงบ้านหลังแรก ที่ได้เริ่มต้นทำเครื่องเขินขึ้นมานั้น คงต้องไปที่บ้านของ "แม่ขันแก้ว กันทิมา" ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกและเป็นเหมือนหลังครู ที่เผยแพร่เรื่องราวของการทำเครื่องเขินให้เกิดการกระจายขึ้นในชุมชนศรีปันครัว


แม้ในปัจจุบัน แม่ขันแก้วจะได้จากเราไปแล้ว แต่สิ่งที่แม่ขันแก้วได้สร้างขึ้นนั้นยังอยู่ในรูปแบบของผลงานและการสืบทอดเครื่องเขิน ซึ่งแ่ม่ขันแก้วได้ส่งต่อความรู้มายังลูกสาว และลูกสาวยังได้แพร่กระจายความรู้ ทั้งในส่วนของชุมชน และนอกชุมชนอีกด้วย


"แม่ๆแรงน้อยกันแล้วลูก จะไปสู้เด็กหนุ่มๆเค้าได้ยังไง ถ้าเค้ามาสนใจแม่ก็พร้อมสอน แต่มันไม่ค่อยมีแล้ว" นี่คือคำพูดของแม่ปิ่น ลูกสาวคนเดียวของแม่ขันแก้ว ที่ได้รับการสืบทอดการทำเครื่องเขิน และได้เผยแพร่การทำเครื่องเขินเพื่อไม่ให้สูญหายไปในยุคปัจจุบัน ที่น้อยคนนักจะมาสนใจศิลปะแขนงนี้ เพราะต้องใช้ทั้งความรัก ความเข้าใจ และเวลาที่จะอยู่กับการทำเครื่องเขินนี้ ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก ที่จะให้ความสนใจอย่างจริงจัง อย่างมากก็แค่มาเรียนแค่ 1-2 แล้วก็ไป



แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามโลกเป็นธรรมดา ในเมื่อเครื่องเขินนั้นดูเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆที่ในอดีต เครื่องเขินคืออุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยในปัจจุบันมีวัสดุเข้ามาทดแทน เช่น ขันน้ำ ตู้เสื้อผ้า จึงทำให้เครื่องเขินนั้นกลายเป็นสิ่งของที่อยู่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยิ่งกลายเป็นเรื่องไกลตัวคนยุคใหม่ออกไปทุกที


ด้วยแนวคิดนี้ จึงทำให้ "คุณต่อ" ลูกชายของแม่ครูพัชรา ได้นำเครื่องเขินมาทำให้มีบทบาทที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวัน นั่นคือ การทำเคสโทรศัพท์ ซึ่งแนวคิดนี้ เกิดจากการที่คุณต่อ ต้องการให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงเครื่องเขินได้มากขึ้น และให้ความสนใจกับเครื่องเขิน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ในทางอ้อมต่อศิลปะที่อยู่คู่แผ่นดินล้านนามาอย่างยาวนาน


พี่ต่อดำเนินงานโดยมีแม่ครูพัชราคอยหนุน โดยแม่ครูได้บอกว่าในอดีตนั้น ครอบครัวแม่ครูไม่เริ่มทำเครื่องเขินมาตั้งแต่ยุค "เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง" โดยการทำเครื่องเขินของที่นี่ ได้ใช้การลงรักปิดทอง เพื่อความสวยงามและความทนทานในการใช้งาน ซึ่งในอดีตนั้น แม่ขันแก้วก็ได้มาเรียนวิชาจากทวดของแม่ครูพัชราอีกด้วย


แม่ครูได้อธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนต่างๆ ซึ่งกว่าจะมาเป็นเคสโทรศัพท์ 1 เครื่องนั้น ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือนในการดำเนินการ เนื่องจากต้องใช้ยางรักแท้จากต้นรัก และต้องวาดลวดลายลงบนเครื่องเขิน ก่อนจะปิดทอง นับว่าเป็นงานฝีมือที่ทรงคุณค่า ทั้งด้านจิตใจ และความสวยงาม




โดยในปัจจุบันได้มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นความแปลกใหม่และนับเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า ที่สามารถจับต้องได้ โดยแม่ครูได้บอกว่า "การทำเคสโทรศัพท์นี้เป็นการนำเอาวิธีโบราณมาสร้างสรรค์ในวัสดุสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้ง เป็นการอนุรักษ์ไปในตัว แล้วคนจะได้ไม่มองเครื่องเขินเป็นของสูง ทั้งๆที่ในอดีตนั้น เครื่องเขินก็อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันแทบจะตลอดเวลาด้วยซ้ำไป"



นอกจากเคสโทรศัพท์แล้ว แม่ครูพัชรายังได้นำเครื่องเขิน มาประยุกต์ให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ใส่สบู่ น้ำหอม รวมไปถึงที่เก็บบหรี่ ซิกก้า อีกด้วย โดยแม่ครูจะสอนผู้ที่มีความสนใจ ภายในวัดนันทาราม เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญานี้ และไม่ให้เครื่องเขินสูญหายไป รวมทั้งยังเกิดความใกล้กันมากขึ้น ระหว่างเครื่องเขินกับคนในยุคสมัยปัจจุบัน

ดู 428 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page