ปัจจุบันบันเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนนั้นง่ายยิ่งขึ้นและเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อสื่อสาร การศึกษาหาข้อมูล ในความหลากหลายที่ผ่านโซเชียลมีเดียนี้ มีข้อมูลว่าทำให้ผู้คนหลายคนเริ่มมีอาการของโรคสมาธิสั้น (อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลมรารมย์) แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบอะไรมากมายนักในช่วงแรก แต่เนื่องจากตัวแบบที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการจะนำเสนอซึ่งเป็นตัวของผมเองนั้นเป็นผู้ป่วยในกลุ่มผู้ป่วยภาวะสมาธิสั้นตั้งแต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปและต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ไปตลอดชีวิต

ภาพถ่ายชุดนี้จึงต้องการที่จะนำเสนอมุมมองในด้านความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตและบันทึกอารมณ์การสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อม ภาพสะท้อนเหล่านั้นอาจมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้สึก อารมณ์และทัศนคติของผู้เข้าชมโดยผ่านการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการปรับและพัฒนาอารมณ์ของตนสู่อารมณ์ของผมอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการการเรียนรู้โดยการเลียนแบบ (Imitative learning)[1]

ในภาพถ่ายชุดนี้ได้เลือกใช้สถานที่ซึ้งเป็นภายในที่พักอาศัยของผมเองซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพความยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบภายในห้องพักอาศัย ข้าวของสิ่งต่าง ๆ ถูกวางทิ้งไว้เกะกะสายตาตามพื้นที่ที่ควรใช้เป็นทางเดิน

กองเสื้อผ้าที่พูนล้นตะกร้าอย่างไม่สนใจใยดีที่จะนำไปซักรีด

โต๊ะทำงานที่หากเป็นคนทั่วไปก็คงจะมีเฉพาะเครื่องเขียน คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน แต่โต๊ะทำงานของผมนั้นที่เต็มเกลื่อนไปด้วยกองยาและหนังสือต่าง ๆ หลากหลายเล่มและแต่ละเล่มล้วนถูกคั่นแทรกสอดด้วยที่คั่นหนังสือ ซึ่งเป็นผลมาจากอาการความผิดปกติของกลุ่มอาการสมาธิสั้นที่ขาดความอดทนในการจะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วงลงโดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องใช้เวลานาน

ในทุก ๆ วันที่ผมตื่นเช้ามา ผมต้องนึกให้ออกให้ได้ว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง และจดมันลงในโพสต์อิทหรือแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ แล้วจึงกินยาก่อนอาหารและหาอาหารเช้ารับประทาน จากนั้นไม่นานผมจะคลื่นไส้ อาเจียนเสมอด้วยผลข้างเคียงของยา และพร้อมที่จะออกไปทำธุระข้างนอก ตลอดทั้งวันผมไม่สามารถรับประทานอาหารอะไรได้ลงเลย จึงต้องดื่มเฉพาะน้ำหวานเพื่อเพิ่มพลังงาน ยาจะหมดฤทธิ์ในช่วงหัวค่ำ ผมจะสามารถรับประทานอาหารได้เหมือนคนทั่วไปอีกครั้ง แต่ถ้าหากมีงานที่ต้องทำช่วงกลางคืนต่อผมก็จะต้องกินยาอีกหนึ่งเม็ดและนั่งทำงานทั้งคืนได้โดยที่ไม่มีอาการง่วงนอนแม้แต่น้อย แม้งานจะเสร็จแล้วแต่ถ้าหากยายังไม่หมดฤทธิ์ ผมก็ไม่สามารถนอนหลับได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความยากลำบากในการทำงานที่ได้วางแผนไว้ ทั้งนี้เพราะสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการมีสมาธิ การยับยั้งชั่งใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการทำงานที่น้อยสารสื่อประสาทจึงหลั่งมาน้อยกว่าคนปกติจำเป็นต้องรับยาเพื่อควบคุมการทำงานของสมองส่วนหน้าอย่างสม่ำเสมอและการที่ต้องรับประทานยาอยู่เสมอทำให้มีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาควบคู่ไปด้วย

ผลงานงานชุดนี้นำเสนอในรูปแบบภาพ self portrait เพื่อขยายขอบเขตของความหมายสะท้อนกันระหว่างปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกที่ตอบสนองในช่วงเวลาต่าง ๆ ของผู้มีภาวะสมาธิสั้นกับผู้คนที่มีภาวะปกติทั่วไป
[1]Ganos.C, Oggrzal T, Schnitzler A, Munchau A.(September,2012). “The pathophysiology of echopraxia/echolalia: relevance to Gilles de la Tourette syndrome”. Mov. Disord 27 (10):1222-9. doi: 10. 1002/mds 25103. PMID 22807284”

พัทรภูมิ พึ่งพานิช 620310231
Comments