คัวตอง หมายถึง งานเครื่องทองเหลืองหรืองานเครื่องทองเหลืองที่ตีขึ้นรูปและฉลุ เป็นงานโลหะ
ล้านนาที่ใช้ประดับประดาวัด ซึ่งประกอบไปด้วยคำว่า “คัว” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ทำขึ้นมาและคำว่า “ตอง” ที่หมายความว่า “ทองเหลือง”
งานคัวตองเป็นงานศิลปะที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน มีเพียงชุมชนวัดพวกแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงสืบสานและอนุรักษ์ไว้ โดยกระบวนการทำงานคัวตองทั้งหมดจะดำเนินอยู่ภายในวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน
โดยมีพระครูปฏิภาณธรรมพิศิษฏ์ เจ้าอาวาสวัดพวกแต้มองค์ปัจจุบันเป็นผู้ขับเคลื่อนงานคัวตอง
รวมไปถึงการมีพิพิธภัณฑ์ชุมชน “พวกแต้ม คัวตอง” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับคัวตองไม่ว่าจะเป็นประวัติ ความเป็นมา ประเภทของคัวตอง รวมไปถึงชื้นงานคัวตองของจริงที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็น ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคัวตองได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันชุมชนวัดพวกแต้มเป็นชุมชนสุดท้ายที่ทำงานคัวตอง มีเพียง 5-7 คนที่ยังทำงานคัวตองอยู่และมี 2-3 คนที่รับจ้างทำ แม้ว่าทุกวันนี้คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับงานคัวตองจนดูเหมือนว่างานคัวตองกำลังจะจางหายไป แต่แท้จริงแล้วยังคงมีคนสืบสานและอนุรักษ์อยู่เช่นกัน เพียงแต่เป็นคนกลุ่มน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความผูกพันธ์กับงานคัวตองมาเนิ่นนานจึงยังคงสืบสานและทำงานคัวตองนี้อยู่
โดยขั้นตอนการทำงานคัวตองนั้นจะเริ่มจากการขึ้นโครงเหล็กและทำตามจำนวนชั้นซึ่งในแต่ล่ะชั้นก็จะมาขนาดที่แตกต่างกัน
หลังจากนั้นจะทำการคัดตัวแบบแม่พิมพ์ โดยจะมีลายแบบพื้นเมืองและลายแบบประยุกต์ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ ลายพื้นเมืองนั้นจะมี ขั้นข้อ หรือ แกน และลายแบบประยุกต์นั้นจะมี ลายคอนอก หรือ ลายคอใน
เมื่อคัดตัวแบบแม่พิมพ์ได้ก็จะเริ่มตอกลาย ฉลุลายและดุนลายลงบนแผ่นทองเหลืองตามลำดับ
หลังจากทำการตอกลายเสร็จก็จะนำไปประกอบเข้าโครงและนำโครงไปทาสีอะครีลิคภายในโครงด้วยสีแดงและตามด้วยทาสีเฟดสีทองบริเวณด้านนอกของโครงจนทั่วตามลำดับ เมื่อสีแห้งก็จะทำการลงลักษณ์ปิดทองงานคัวตองก็เป็นอันเสร็จสิ้นและสามารถนำคัวตองไปใช้งานได้เลย
ถึงปัจจุบันนี้งานคัวตองจะเป็นที่รู้จักกันไม่มากแต่ก็ยังคงมีกลุ่มคนที่สนใจเข้ามาอบรมการทำ
คัวตองอยู่เช่นกัน
เพราะงานคัวตองมีความสำคัญต่อวัดล้านนาและคัวตองนั้นก็มีอายุขัยการใช้งานเช่นเดียวกับของใช้ เครื่องใช้ทั่วไป เมื่อคัวตองนั้นเริ่มขึ้นสนิม เก่าและผุพังลงก็ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ ทำใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุนี้จึงยังคงมีงานคัวตองอยู่
สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
วัดพวกแต้ม 15 ถนนสามล้าน ซอย 7
ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200
หรือติดต่อทางเพจ Facebook “พวกแต้ม คัวตอง”