top of page
รูปภาพนักเขียน.doc team

Northeastern to North


Northeastern to North / ถ่ายทอดความคิดของลูกย่าโมสู่ความเป็นผู้อาศัยในดินแดนล้านนา

▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬

" คนอีสาน " หรือคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในประเทศไทย ในอดีตการย้ายถิ่นฐานของคนอีสานนั้นเกิดจากภัยแล้งส่งผลให้คนอีสานย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ต่างๆในประเทศไทย รวมถึงในเชียงใหม่ " เมืองเชียงใหม่ " เป็นเมืองที่มีความเจริญมากที่สุดของภาคเหนือและเป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพมหานครมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ


" คุณลุงเดชดวง " หรือ นายเดชดวง อินทรกำแหง นายกสมาคมชาวอีสานเชียงใหม่และอดีต ผอ.อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือเป็นคนอีสานที่มีภูมิลำเนาเดิมคือ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นผู้ที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลานับ 40 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2520

❝ เพราะอะไรคุณลุงเดชดวงถึงเลือก ‘เมืองเชียงใหม่’ เป็นเป้าหมายในการย้ายถิ่นฐาน ❞

ผมรับราชการที่กรมอุตุนิยมวิทยาทำงานที่หอบังคับการบินดอนเมืองได้ 13 ปีก็มีความรู้สึกที่ว่าต่างจังหวัดงานอุตุนิยมวิทยาเป็นงานที่ทำงานยาก พยากรณ์ก็ยาก คนก็ไม่ค่อยเชื่อและเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ค่อยพร้อมเพราะประเทศของเราตัวในเขตตัวแปรเยอะกว่าปกติเพราะฉะนั้นการพยากรณ์อากาศในสมัยก่อนนั้นจะไม่ค่อยถูกทำให้สมัยก่อนนั้นคนไม่ค่อยอยากจะฟังทำให้ผมมีความตั้งใจว่าจะพัฒนางานอุตุ ทำยังไงถึงจะพัฒนาได้ให้มันดีขึ้นก็เลยอุทิศตัวเองว่าจะมาทำงานเพื่อราชการตรงนี้ อย่างผมนี้ถือว่าเป็นช้าราชการของในหลวงไม่ใช่ข้าราชการของรัฐบาลเพราะฉะนัน้ก็ต้องทำงานให้ดีมีความซื่อสัตย์รู้จักหน้าที่ ทำอะไรต่างๆให้สมเกียรติกับการเป็นข้าราชการไทย จึงขอย้ายตัวเองทั้งๆที่สมัยนั้นคนไม่ค่อยอยากจะมาอยู่ต่างจังหวัดกันเพราะสมัยก่อนนั้นมีความคิดกันว่าคนที่บรรจุเป็นข้าราชการในกรุงเทพฯแล้วย้ายออกมาต่างจังหวัดนั้นจะเป็นคนที่มีความผิดหรือเรียกว่าเป็นข้าราชการชั้นสอง แต่ผมขอย้ายมาด้วยความศรัทธาอย่างที่ว่าอยากจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี

❝ การปรับตัวของคุณลุงในช่วงแรกที่มาอยู่ในเชียงใหม่ ❞

" เพราะผมเป็นคนต่างจังหวัดมาก่อนเลยทำให้ผมปรับตัวได้ง่าย ก็มีการปรับตัวเรื่องภาษาจนถึงทุกวันนี้ผมยังฟังภาษาเหนือได้แค่ 40-50% เพราะว่าในงานราชการนั้นใช้ภาษากลางและภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่และต้องปรับตัวเรื่องประเพณีวัฒนธรรมด้วยเพราะในเรื่องของงานนั้นไม่มีปัญหางานอุตุนิยมวิทยานั้นเป็นงานที่ทุกที่ทั่วโลกนั้นเหมือนกันใครจบอุตุมานี่ไปทำตรงไหนก็ได้หมดเพราะใช้ภาษาเดียวกันหมดทำให้การปรับตัวนั้นจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและชุมชน ส่วนเรื่องการกินอยู่นั้นด้วยความที่เป็นคนต่างจังหวัดเป็นคนกินง่ายอยู่ง่ายอยู่แล้ว ถึงแม้ว่ารสชาตินั้นจะไม่จัดจ้านเหมือนอาหารอีสาน ผมก็กินได้ ผมก็ชอบกินน้ำเงี้ยว กินไส้อั่ว "


❝ในมุมมองของคุณลุงคิดว่าเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้างเมื่อลองเปรียบเทียบกับภาคอีสาน ❞

" ในมุมมองของผม ผมว่าไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่แต่ว่าที่ภาคเหนือนั้นวัฒนธรรมประเพณีของภาคเหนือนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเพราะมีการสืบทอดมาดี มีหลักฐาน ในภาคอีานส่วนใหญ่จะเป็นการบอกเล่ามากกว่าการบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวทำให้ไม่มีที่อ้างอิงแต่ของภาคเหนือสามารถอ้างอิงได้ อย่างที่ผมทำสะเปาคำ อาจารย์ศรีเลา เกษพรหมท่านเป็นนัักแปลหนังสือล้านนาโบราณ ท่านก็รู้เรื่องเก่าๆจากสมุดใบข่อยด้วยความที่ท่านอ่านเป็นท่านจึงรู้ว่าสะเปาคำนี้ทำเพราะอะไร ทำไมถึงต้องทำ ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไรเพราะฉะนัน้ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคเหนือนั้นนอกจากจะน่าเชื่อถือแล้วยังทำได้ต่อเนื่อง แม้กระทั้งประเพณีสงกรานต์ที่ผ่านมาเค้าก็บอกว่าวันที่ 16 เมษายนเป็นวันพญาวัน แต่เมื่อก่อนนั้นวันพญาวันจะเป็นวันที่ 15 เมษายนแต่ทีนี้มีการคำนวณของปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่มีตำราวิธีคิดเป็นหลักฐานทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ภาคอื่นๆจะไม่ค่อยเข้าใจแม้กระทั้งส่วนราชการหรือส่วนกลางก็ต้องเอาความรู้ความคิดส่วนนี้ไปใช้ด้วยเพราะระบบทั้งจันทรคติและสุริยคติบางอย่างมันจะต่างกันเพราะฉะนั้นเค้ามีหลักฐานเราก็ต้องปรับตามเค้าเพราะฉะนั้นเราต้องรู้เหตุการณ์วัฒนธรรมที่หลากหลายนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ "


❝ ความเป็นมาของสมาคชาวอีสานในเชียงใหม่และเป้าหมายของสมาคม ❞

" เมื่อ พ.ศ.2528 ท่านเจ้าคุณอุบล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นซึ่งเป็นคนอีสานเป็นผู้รวบรวมคนให้รู้จักคนอีสานที่มาอยู่ในเชียงใหม่และผมก็ได้เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงนายกสมาคมตั้งแต่นั้นมาอาจจะมีการสลับหน้าที่ให้คนอื่นได้มาเป็นบ้าง ส่วนเป้าหมายของสมาคมนั้นคือเป็นศูนย์กลางของชาวอีสานที่มาอยู่ในเชียงใหม่และสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สมาคมมีกิจกรรมหลักๆอยู่ 2 อย่างคือ ทางด้านศาสนาและการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น การเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นคือการจัดงาน ราตรีเสียงแคน มีการแสดงวงโปงลางเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและไปร่วมแสดงในงานต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ อย่างที่ 2 คือการเข้าหาศาสนาพุทธเป็นการทำบุญร่วมกันในหนึ่งปีจะมีพิธีถวายสลากภัติหรือภาคอีสานเรียกว่าการทำบุญข้าวสากและถ้าทางสาธารกุศลหรือทางจังหวัดขอความช่วยเหลือมาเราก็ช่วยเท่าที่เราช่วยได้ ถ้าสมาชิกอยากให้เราช่วยทางสมาคมก็ยินดีช่วยเหลือ"


❝ คุณลุงมีอะไรแนะนำคนอีสานที่กำลังจะย้ายมาอยู่ในเชียงใหม่หรือกำลังอยู่ในเชียงใหม่อย่างไร ❞

" ก็อยากให้คนที่จะมาอยู่หรือมาเรียนก็ตามได้ยึดมั่นในตัวเอง ในการสร้างอาชีพ สร้างชื่อเสียงและความสามัคคี เมื่อจะมาอยู่ที่เชียงใหม่อย่างน้อยๆก็จะได้อุ่นใจละว่าเรายังมีสมาคมชาวอีสานที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาที่สามารถคุยกันรู้เรื่อง เมื่อเราเกิดการพูดคุยกันจะทำให้เรานับถือกันเป็นเหมือนลูกเหมือนหลานทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและเกิดความสามัคคีเหมือนกับเรามีญาติผู้ใหญ่คอยสนับสนุนเป็นที่พึ่ง เราต้องอยู่แบบมีศักดิ์ศรีอยู่แบบให้เค้าเคารพในศักดิ์ศรีและความสามารถของเรา มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน "


จากบทสัมภาษณ์นั้นทำให้เราได้ตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่และการปรับตัวของคนจากภาคอีสานที่มาอยู่ในที่แห่งนี้ การช่วยเหลือของสมาคมและความช่วยเหลือของคนอีสานด้วยกัน

▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬

ดู 72 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page