“พอมาถึงจุดๆหนึ่งเราก็ไม่สนแล้วว่าเขาจะบอกว่าร้านเราเป็นร้านกาแฟหรือห้องสมุด แค่เขามีความสุขกับพื้นที่ตรงนี้ก็พอแล้ว”
คงไม่ได้เป็นการพูดเกินจริงเลยว่าการไปนั่งสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ฉันมีความสุขที่สุด บทสนทนาอันยาวนานเกือบชั่วโมงที่ไม่ทำให้ฉันรู้สึกเบื่อเลยแม้แต่น้อย กลับนำฉันด่ำดิ่งจมลึกลงไปกับความฝัน การท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆ และไฟที่ต้องการจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาของการพูดคุย ล้วนเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะรอยยิ้ม และน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ... ฉันไม่ได้กล่าวเกินจริงแม้แต่น้อย ฉันกำลังตกอยู่ในมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยความฝันของชายคนนี้ คุณนัท ณัฐพงษ์ เนียมนัด
สถานที่สัมภาษณ์ของเราในครั้งนี้เป็นคาเฟ่เล็กๆที่มีขนาดเท่าบ้านหนึ่งหลัง ที่มีชื่อว่า 'มาหาสมุด' ในบริเวณพื้นที่ คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์พื้นเมืองที่มีชื่อว่า ‘บ้านข้างวัด’ โดยในบริเวณคอมมูนิตี้มอลล์นี้ถูกทำขึ้นให้มีบรรยากาศของชุมชนในสมัยก่อนที่มีการพึ่งพาอาศัย ช่วยดูแลกันและกัน และมีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เป็นมิตรและความร่มรื่นที่ถูกจัดสรรมาอย่างลงตัว และร้าน ‘มาหาสมุด’ ก็เป็นส่วนหนึ่งในบริเวณชุมชนบ้างข้างวัดแห่งนี้ บรรยากาศของร้านนั้นหากเดินผ่านๆคงคิดว่าเป็นร้านขายหนังสืออย่างแน่นอน ด้วยเพราะชั้นหนังสือขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ไปหนึ่งฟากกำแพง แล้วแทบจะทั้งบริเวณพื้นที่ของร้านที่มีแต่หนังสือถูกจัดวางอยู่เรียงราย ถัดออกไปเล็กน้อยถึงมีเคาน์เตอร์เล็กๆพอให้รู้ว่าที่นี่เป็นร้านขายเครื่องดื่ม และรูปวาดเล็กๆหลายๆรูปจากฝีมือของลูกค้าถูกตกแต่งอยู่ในร้านที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและความผูกพันระหว่างลูกค้าที่มากับเจ้าของร้าน
ร้านนี้เปิดมานานแค่ไหนแล้ว?
มิถุนายนก็นี้ครบ4ปีพอดี ร้านนี้เปิดพร้อมโครงการบ้านข้างวัด จริงๆเราก็อยากจะเปิดปลายเดือน แต่ต้องเร่งเปิดพร้อมโครงการ เพราะเขาจะเปิดแล้ว เราจะไม่เปิดมันก็น่าเกลียด ส่วนตัวร้าน เราเปิดที่นี่ที่แรก แต่เราเคยทำเพจให้ยืมหนังสือมาก่อน ชื่อเพจ มาหาสมุด นี่แหละ แต่เรายังไม่คิดว่าจะเอามาเปิดร้านจริงๆ คือถ้าใครสนใจก็ยืมได้
อะไรคือแรงบันดาลใจให้เริ่มเพจให้ยืมหนังสือ?
อันนั้นน่าจะต้องย้อนไปแต่แรกเลย คือเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นเรื่องปกติ เพราะที่บ้านมีชั้นหนังสือแล้วเราโตมากับการเห็นหนังสืออยู่ในบ้านแบบพวกพ็อกเก็ตบุ๊ค วรรณกรรมอะไรแบบนี้ ตอนเด็กเราก็เริ่มจากอ่านการ์ตูนขายหัวเราะมหาสนุก แล้วก็พัฒนาจากการอ่านเป็นรูป มาอ่านเป็นแก็ก แล้วก็มาอ่านเรื่องสั้น พออ่านในขายหัวเราะมหาสนุกหมดแล้วเลยมาอ่านหนังสือเล่มจริงๆ มันเลยกลายเป็นความชอบ พอโตมาก็ยังชอบการอ่านอะไรแบบนี้อยู่ พอถึงวัยหนึ่งแบบช่วงมัธยมหรือมหา’ลัยที่พอมีเงินเก็บเลยซื้อหนังสืออ่านเอง มันเลยติดเป็นนิสัย พอโตขึ้นมาเราก็มีความสนใจในด้านอื่นๆที่ต่างออกไป เช่น สังคม การเมือง แต่มีประเด็นที่สนใจคือตอนนั้นมีประเด็นแบ่งฝ่ายทางการเมือง เราไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นคุยกับเพื่อนร่วมงานได้แต่บ่นกับเพื่อน แล้วหลังจากนั้นเราเลยรู้สึกว่าเราทำได้แค่นี้เองเหรอ เราน่าจะทำอะไรได้สักอย่างมากกว่าแค่นั่งบ่นกับเพื่อน ตอนนั้นเรามองว่าปัญหาส่วนหนึ่งมันเกิดจากการรับสารรับสื่อ บางคนอาจรับสารโดยรวมแล้วตัดสินใจ แต่บางคนไม่ได้รับสารทั้งหมดหลายๆด้าน แต่ในส่วนตัวเราได้ความสามารถในการวิเคราะห์การรับสารได้ในระดับที่พอใจก็จากการอ่าน เราเลยคิดว่าถ้าคนอื่นได้รับชุดความคิดทั้งหมดมาก่อน แบบเดียวกับเราได้รับมันจะเป็นยังไง แล้วคุณจะเลือกเชื่อแบบไหน มันจะดูทรงพลังกว่า คือได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้ววิเคราะห์ก่อนที่จะเลือกเชื่ออะไรสักอย่าง อยากรู้ว่าถ้าทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนจริงๆ แล้วคุณค่อยมาเลือก มาตัดสินใจที่จะเชื่อจริงๆ หน้าตาของสังคมจะเปลี่ยนไปแบบไหน อย่างเรา เราได้เทคนิคพวกนี้มาจากการอ่าน เราก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไงให้คนมีโอกาสอ่านเยอะขึ้น
ซึ่งการที่เราเป็นคนที่ชอบการอ่าน ก็จะเริ่มมีความฝัน อยากเป็นนักเขียน อยากมีร้านหนังสืออยากมีห้องสมุดของตัวเอง ซึ่งฝันเราเป็นแบบนั้น เป็นแบบที่อยากมีห้องสมุด เพราะในอีกช่วงวัยหนึ่งตอนที่เด็กกว่านั้นเราเคยมีข้อจำกัดในการอ่านหนังสือ ในช่วงที่เราอยากอ่านหนังสือที่หลากหลาย แต่เราไม่มีเงินพอ เราก็ใช้วิธีเข้าห้าง ไปยืนอ่านหนังสือฟรีตามห้าง คือเรามีวิธีแก้ปัญหาของเรา แต่คนที่เขาอยากอ่านแต่เขาอยู่ในพื้นที่ที่ลำบากกว่านี้ล่ะ โอกาสเข้าถึงหนังสือของคนอื่นที่มีข้อจำกัดไม่เหมือนเราล่ะ เราเลยอยากช่วยให้ข้อจำกัดนี้ลดลง อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนอ่านหนังสือเยอะขึ้นเพราะเรา แต่ความตั้งใจอีกอย่างคือ เราเชื่อว่ามีคนอยากทำแบบนี้แบบเราอีกหลายคนแต่ข้อจำกัดมันเยอะเรารู้สึกอยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเห็นว่า เออ เคยมีคนทำนะ แล้วมีคนที่สองสามสี่ เราจะยินดีมากถ้ามีคนทำแบบอีกเยอะ เพราะผลที่เกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่นั้นๆ เราเชื่อว่ามันจะกระจายออกไปเรื่อยๆ
ไม่กลัวหนังสือหาย?
กลัวครับ แต่ลองมาคิดดูนะ หนังสือเล่มหนึ่งเราซื้อมาแล้ว เราอ่านกี่ครั้ง ปกติก็อ่านกันครั้งเดียว มีกี่เล่มที่เราอ่านเกิน 2 ครั้ง ไม่ใช่ทุกเล่มแล้วก็ไม่ใช่ส่วนใหญ่ด้วยนะ หลังจากนั้นก็จะอยู่แต่ในชั้นหนังสือ แล้วตอนนั้นเหมือนเราไม่ได้ทำเพจจริงจังด้วยมั้ง ก็จะเป็นขนาดเล็กๆที่มีแค่เพื่อนของเพื่อน คนรู้จักอะไรแบบนี้ที่มายืม ตอนนั้นยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะทำมาได้ถึงจุดนี้ แต่ก็เหมือนทำรอมาอ่ะ ว่าเราอยากมีห้องสมุด แต่ไม่รู้ว่าที่ไหนยังไง แล้ววันหนึ่งมันก็มีโอกาสเข้ามา
กลับมาที่ร้านมาหาสมุดตอนนี้ก่อน แนวทางของร้านคือยังไง?
ความตั้งใจอย่างแรกเรามองว่ามันไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เรามองว่ามันเป็นสิ่งใหม่ เรายังไม่เคยเห็นภาพที่มันเคยประสบความสำเร็จมาก่อน อย่างถ้าเราเปิดร้านกาแฟ เราก็จะมีภาพว่าเออถ้าเราแบบนี้มันจะออกมาประมาณนี้ ถ้าเราทำร้านหนังสือมันจะออกมาหน้าตาแบบนี้ แต่ในโปรแกรมที่เราทำเรายังไม่เคยเห็นใครทำ มันเหมือนเราต้องลุยเองใหม่หมด คือเราเอาชุดความรู้หลายๆอย่างมารวมกันผสมกับความตั้งใจแรกที่เราอยากให้มันเป็นมาเป็นแกนในการทำของเรา แล้วค่อยดูว่าเออ มันจะมีวิธีไหนที่จะไปถึงตรงจุดนั้นได้บ้าง
ส่วนความตั้งใจแรกของเราเลยคือเราอยากทำห้องสมุด คือไม่มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวในหัวเลยนะ แล้วพอมันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราค่อยมองว่าเออ มันมีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาแล้วนะ เราจะจัดการยังไงกับปัญหาเหล่านี้ คือไม่เกี่ยวกับการจะทำหรือไม่ทำห้องสมุด ยังไงเราจะทำอยู่แล้ว เรียกว่าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนดีกว่า แต่เราจะทำยังไงให้อยู่รอด ก็เลยค่อยมาคิดหาวิธีการหาเงินอะไรแบบนี้ แล้วคือเราเรียนสถาปัตย์มา เราก็จะชอบทำงานช่วงกลางคืนตอนนั้นเราอยู่หอไง ทำงานในห้องแคบๆกลางคืนอะไรแบบนี้มันไม่แฮปปี้ไง เราก็คิดว่าเออ วันหนึ่งนะ ถ้าเรามีสเปซ เราจะทำร้านที่ตอบโจทย์อะไรแบบนี้ มันก็เลยมารวมกันกับความตั้งใจที่เราอยากมีห้องสมุด แต่พอออกมาจริงๆมันก็ไม่ได้ออกมาเหมือนที่คิดนะ เหมือนเรามีความตั้งใจหลายอย่างแล้วเอามาผสมกัน ก็ถ้าเรียกง่ายๆตรงนี้ก็เหมือนเป็นห้องสมุดของเราเองที่เราแชร์พื้นที่ให้คนอื่นเข้ามาใช้อะไรแบบนี้ มันก็เลยเหมือนว่าพอแนวทางของเราชัดเจนแบบนี้ ร้านเราก็เลยมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างแบบนี้
แล้วถ้าจะต้องให้คนมาเรียก อยากให้เขาเรียกว่าเป็นห้องสมุดหรือร้านกาแฟ?
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงอยากให้เรียกว่าเป็นห้องสมุด ส่วนสำหรับตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่ เราคิดว่ามันเป็นอะไรก็ได้ ให้เขาแฮปปี้ เราไม่ซีเรียสกับคำจำกัดความตรงนั้นแล้ว เรามองว่าตรงนั้นไม่สำคัญสำหรับเราเท่าไร แค่เขามีความสุขกับพื้นที่ตรงนี้ก็พอ มันไม่ง่ายนะที่จะทำให้ใครสักคนมีความสุขกับพื้นที่สักแห่ง เราเลยไม่ซีเรียสว่าคนจะพูดถึงเราแบบไหน อาจจะพูดด้านแย่ๆก็ได้ แต่เราชัดเจนว่าเราอยากจะทำเพราะอะไร การทำตรงนี้เราคิดว่ามันตอบโจทย์เราแล้วสัก 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันก็น่าจะต้องพัฒนาต่อเป็น 80 หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ โอเค... คำตอบคือเราไม่สนใจว่าเขาจะเรียกร้านเราว่าอะไร เราพอใจแค่ให้เขาเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ของเราแล้วก็ซื้อของในร้านเราบ้างก็พอ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้หลักเรามาจากคาเฟ่ คือเขาเข้ามาแล้วแฮปปี้ อยากใช้เวลาอยู่ตรงนี้จะด้วยอะไรก็ตาม จะด้วยต้นไม้ เพลงหรือหนังสือ ส่วนความสามารถที่จะทำให้เขาสนใจในสินค้า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อ
ในเมื่อเราชัดเจนอยู่แล้วว่าเราจะทำห้องสมุด แล้วทำไมต้องเป็นร้านกาแฟ?
คือจะบอกว่าเป็นกาแฟมันก็ไม่ชัดนะ เพราะเราไม่ได้มีกาแฟสด เรามองว่ามันเป็นโปรแกรมที่เอามาซัพพอร์ตดีกว่า แล้วมันเหมาะกับบริบทที่นี่ ส่วนหนึ่งมันชัดเจนว่าเราต้องหารายได้ ดังนั้นเราต้องการโปรแกรมเสริมเพื่อให้มันกลายมาเป็นรายได้หลักที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงร้าน ที่นี้เราก็เลยมานั่งดูกันว่าเราจะทำอะไร ตอนแรกมันเป็นร้านนมนะ แล้วก็มีการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้งเหมือนกัน ตอนนี้ก็เป็นพวกชาเป็นหลัก แล้วมีอย่างอื่นซัพพอร์ต คือเราไม่มีสูตรตายตัวแต่แรก แต่เหมือนเราโตมากับมัน ก็มีอะไรที่คิดมาแล้วไม่เวิร์ค... ก็เปลี่ยน แล้วก็มีบางอย่างที่คิดแต่ยังไม่ได้ทำก็มี อาจเพราะประสบการณ์ที่เราทำมันมาตั้งแต่ปีแรกก็ดีบ้างแย่บ้างก็คละๆกันมา ตอนนี้มันก็เป็นแบบหนึ่งในช่วงเวลาของมัน
เก็บหนังสือสะสมนานไหม?
ถ้าของส่วนตัวก็ตามอายุเลยครับ ก็เก็บมาเรื่อยๆ ส่วนตั้งแต่เปิดร้านเราก็จะมีเปิดรับบริจาคหนังสือ หนังสือ 2 ใน 3 ของร้านมาจากการบริจาคนะ ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ 2,000 เล่ม ส่วนวิธีคัดก็ง่ายๆเลย ตามความชอบส่วนตัว (หัวเราะ) คือเรามองว่ามันเป็นห้องสมุดของตัวเอง มันก็จะมีความหลากหลายในระดับหนึ่ง เหมือนเราจ่ายเงินซื้อหนังสือที่เราอยากอ่าน เราก็มองให้มันเป็นทางเลือกแล้วกัน อย่างพวก Textbook คุณหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหา’ลัย หรือห้องสมุดประชาชนก็จะมีคาแรกเตอร์ของมัน ส่วนที่นี่ก็เหมือนเป็นห้องสมุดของเรา เราก็จะเลือกหนังสือตามสไตล์ของเรา ส่วนมากที่นี่ก็จะเป็นวรรณกรรม ซึ่งจริงๆทั้งหมดนี่เราก็ยังอ่านไม่ครบนะ
ถ้าจะเปิดห้องสมุดแล้วจะต้องเปิดร้านกาแฟมาซัพพอร์ตแบบนี้ ทำไมไม่เลือกเปิดร้านขายหนังสือไปเลย ?
ถ้าให้พูดย้อนกลับไปมันอาจเป็นเพราะ อีโก้ ของเรา แบบเรามีความคิดไว้แล้วมีความชัดเจนกับมัน แล้วเราก็ไม่ให้ใครมาแตะ เราจะทำแบบนี้ แต่ตอนนี้เราก็ไม่ได้มุ่งเน้นพรีเซ้นท์ว่ามันเป็นห้องสมุดแล้วนะ คือเราไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนกับมัน เหมือนเป็นคาเฟ่ที่มีห้องสมุดมาซัพพอร์ต มันก็คือทั้งสองอย่างนี้มันไปด้วยกัน มีเครื่องดื่ม ขนม มีหนังสือให้อ่าน ให้ยืมกลับบ้านอะไรแบบนี้
แต่คือมั่นใจอยู่แล้วว่าจะเป็นห้องสมุดเท่านั้น จะไม่ขายหนังสือแน่นอน?
ใช่! ก่อนหน้านี้มั่นใจในแบบนั้น แต่ในช่วงหลังก็เคยคิดอยู่นะ ว่าแบบเป็นห้องสมุดที่มีชั้นขายหนังสือด้วย มันก็อาจเป็นไปได้ แบบว่าเราไม่ได้มีขอบเขตกับมันแบบนั้นแล้ว แรกๆคือมันต้องเป็นห้องสมุดเท่านั้น เป็นคนที่ยึดมั่นกับความคิดตัวเองมาก
ในปกติแล้ว ร้านกาแฟส่วนมากจะมีหนังสือมาเป็นส่วนประกอบ ส่วนร้านขายหนังสือก็จะมีการขายเครื่องดื่มเป็นส่วนประกอบ จะมีพื้นที่ที่เราดูออกชัดเจน แล้วในส่วนของร้านมาหาสมุดควรเรียกว่าอะไร? แล้วถ้าคนไม่รู้จักมีคนงงๆบ้างไหมเวลาเข้ามา?
ถ้าถามว่าคนงงไหม เขางงนะ ตั้งแต่ทำร้านมา เรามองว่าตรงนั้นเป็นการจัดการที่ไม่ดีของเราเอง คือเราทำให้แต่ละอย่างมันชัดเจนไม่ได้ มันเหมือนมันขมุกขมัวอยู่นะ คือคนมองแว็บแรกเขาไม่สามารถตีความได้ว่าร้านนี้คือร้านอะไร นั่นทำให้เวลาคนเดินเข้ามา เขาไม่ได้มาสั่งเครื่องดื่มนะ เขาเดินมาดูว่ามันคืออะไร คือเรายังไม่สามารถทำให้ความเข้าใจของคนตรงกับที่เราต้องการได้ ตรงนั้นก็เป็นข้อเสียของเราที่เราก็ต้องพัฒนาต่อไป ส่วนถามว่ามันแปลกไหม เรามองว่ามันไม่แปลกนะ มันแค่ไม่เหมือนที่อื่น คือแต่ละคนมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน บางคนชอบทำกาแฟเพราะชอบกาแฟ บางคนทำเพราะมีที่ เรามองว่ามันคือการพัฒนาต่อของแต่ละร้านมากกว่า ส่วนของเราด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่างด้วยมันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ
แล้วลูกค้าส่วนมากที่มานั่งที่ร้าน เห็นเขาหยิบหนังสือมาอ่านบ่อยไหม?
ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์นะที่หยิบหนังสือมาอ่าน เอาตั้งแต่เปิดร้านเลยนะ คือเราต้องเล่าย้อนก่อนว่าเราเคยเครียดนะ แบบทำไมคนไม่อ่านหนังสือกันเลย มันไม่โอเคนะ แบบ... มาถ่ายรูปมาเที่ยวเล่นอะไรแบบนี้ จนมาวันหนึ่ง เรามาระลึกถึงความตั้งใจแรกว่าเราอยากทำสเปซให้คนอ่านหนังสือนะ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือมันมีคนอ่าน บางคนก็เอาหนังสือมาเองหรือหยิบหนังสือที่นี่อ่าน มันมีเหตุการณ์ตรงนั้นเกิดขึ้น มันอาจจะน้อย แต่มันมีคนอ่านนะ ซึ่งมันเกิดขึ้นเพราะเราทำสเปซตรงนี้ เราลุยกับมันมา ตอนแรกเราเคยคิดนะว่าต่อให้มีแค่คนเดียวแต่เขาได้อะไรบางอย่างจากการมาที่นี่หรือเขาแค่เคยเห็นแล้วเขาลงมือทำอะไรบางอย่างในสังคมของเขา สำหรับเราเรามองว่ามันคุ้มค่านะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใช่ คนอ่านน้อย จากร้อยคนอาจจะมีคนอ่านสักห้าคน... เดี๋ยวนะ ไม่... แค่สาม จากร้อยคนมีคนอ่านสักสามคน คนที่ผ่านมาที่นี่เราว่ามีเป็นพันคน แต่ถ้ามีสัก 3 เปอร์เซ็นต์ที่มาที่นี่แล้วเขามีความสุขเขามาแล้วเขาได้อะไรกลับไป แล้วเขาอยากทำบ้าง เรามองว่าอันนั้นคือเราประสบความสำเร็จไปแล้ว เพราะนั่นเป็นความตั้งใจแรกของเราเลย ก่อนที่จะมีร้านมีหนังสือมีประตูหน้าต่างอีกนะ ดังนั้นเรามองว่าความตั้งใจแรกเราประสบความสำเร็จไปแล้วนะ
เคยมีอยู่วันหนึ่งช่วงบ่ายๆ เรามีลูกค้านั่งในร้านอยู่ 6 คน แต่ทุกคนอ่านหนังสือหมดเลย มันมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นแต่เราไม่ได้มองตรงนั้นไง โอเค... ทำช่วงแรกเราอาจมีปัญหาลูกค้าน้อย คนไม่ค่อยเข้าอะไรแบบนี้ แต่พอหันไปมองความตั้งใจแรกของเราแล้ว เราแค่อยากให้คนอ่านหนังสือไง ซึ่งพอหันกลับมามอง อ้าว! ก็นี่ไง คนอ่านหนังสือ เราสำเร็จแล้วนี่หว่า เราสำเร็จตั้งแต่ปีแรกแล้วนะ ซึ่งความสำเร็จหลังๆ คือเราอยากขายเครื่องดื่มให้ได้เยอะๆ อยากหาเงินให้ได้มากขึ้นรึเปล่า โดยที่เราลืมไปว่าเราประสบความสำเร็จในความตั้งใจแรกเราของเราไปแล้ว พอรู้ตัวเราก็เลยใช้ชีวิตในแบบที่เบาขึ้น เพราะส่วนหนึ่งเราก็ประสบความสำเร็จไปแล้วเราไม่ซีเรียสกับตรงนั้นแล้ว โจทย์ถัดไปเราก็อยากให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นเราต้องทำยังไง ต้องบิ้วท์บรรยากาศยังไง ก็ให้มันค่อยๆเติบโตไป
ร้านนี้มีลูกค้าประจำไหม?
มีนะ แต่น้อยกว่าคนอ่านหนังสืออีก ก็มีมานั่งทำงานมานั่งชิว ก็อาจจะมีในเปอร์เซ็นต์ที่น้อย เหมือนเว้นช่วงนานอยู่นะกว่าจะกลับมา อย่างบางคนเป็นคนเชียงใหม่ คือถ้าเขาจะมาที่นี่ก็คือตั้งใจมาร้านเรา การที่เห็นใครสักคนกลับมาอีก เราเข้าใจว่าถ้าใครอยากไปคาเฟ่ในเชียงใหม่เขามีที่ไปเยอะมาก ซึ่งร้านเราไม่ได้ตอบโจทย์เขาตรงนี้นะ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่เขากลับมาที่ร้านเรา เราโคตรดีใจเลย เหมือนว่าถ้าเราแฮปปี้กับที่ไหนสักที่เราก็อยากกลับไปอีก มันไม่ง่ายเลยนะที่จะทำให้ใครสักคนรู้สึกแฮปปี้กับอะไรบางอย่าง
ที่ร้านมีอีเวนต์บ่อยไหม?
บ่อยไหมเหรอ.... ไม่บ่อยนะ ก็มีอยู่บ้างคือมันขึ้นอยู่กับความขี้เกียจของเจ้าของร้านนะ ถามว่าอยากจัดอีกไหม เราอยากนะ อยากให้มีเรื่อยๆ เพราะเรามองว่าสเปซตรงนี้มันจัดได้ เรามองในภาพรวมนะ ว่าแต่ละร้านก็จะมีสเปซกับสไตล์ในแบบของมัน มาหาสมุดก็จะเป็นในแบบของมัน ในแบบที่มีสเปซรองรับกิจกรรมอะไรเหล่านี้ ถามว่าการทำสิ่งหนึ่งเพื่ออะไรเหรอ... หนึ่งคือเราต้องการให้มันเป็นสเปซแบบนั้น อันนั้นทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่ผลที่มันจะออกมาอีกอย่างหนึ่งคือ เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนวงการหนังสือ นักเขียนนักอ่านที่จะพาให้มันดีขึ้นหรือมีอะไรที่เจ๋งขึ้น เรารู้สึกว่าการที่เราเป็นสเปซเหล่านั้นมันควรมีกิจกรรมด้วย แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะรองรับสิ่งตรงนั้นได้
คือเรารักการอ่านมากๆเลยอยากให้คนรักการอ่านด้วยหรือเปล่า?
ก็อาจใช่ คือเรามีชุดความคิดอย่างหนึ่งว่าเวลาเราคิดอะไรสักอย่างเราจะเริ่มคิดหรือจะทำอะไรสักอย่างจะเริ่มจากการอ่าน พอโตขึ้นเราก็มองในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มองเรื่องสังคม บุคคล วงการ หรืออนาคต ว่าแบบสิ่งเหล่านี้มันจะไปอยู่ในตำแหน่งไหน ซึ่งเราอาจจะทำอะไรบางอย่างก็ได้ให้มันพลิก ตึง! แล้วทำให้มันเปรี้ยงขึ้นมา เหมือนเรารู้ว่าเราทำอะไรที่มันจะส่งผลให้มันเวิร์คกับบางอย่าง แต่จะทำออกมาแล้วดีหรือไม่ดีอันนั้นก็ขึ้นกับความสามารถของเรา
คิดว่าคนเชียงใหม่อ่านหนังสือเยอะไหม?
เราคิดว่าวัฒนธรรมการอ่านของเมืองเชียงใหม่จับต้องได้ง่าย อาจเพราะว่าเชียงใหม่คนต่างชาติเยอะ แล้วการที่เราเห็นคนหยิบหนังสือมาอ่านมันไม่แปลก อย่างเราเคยอยู่กรุงเทพฯ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าอย่างนี้ เราก็จะเห็นคนเล่นโทรศัพท์ แล้วก็จะมีบางคนอ่านหนังสือ ซึ่งเรามองว่าเฮ้ย! มันเจ๋งดีว่ะ มีคนอ่านหนังสือ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นนะ แต่สำหรับเชียงใหม่ เรามองว่ามันไม่แปลก อย่างเราไปร้านเหล้าอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นบ้านเรา เราคิดว่าไปร้านเหล้าคือไปกินเหล้ากินเบียร์ การไปเฮฮาปาร์ตี้ร้องเพลง แต่ที่นี่มีเด็กเรียนศิลปะหรืออื่นๆอะไรประมาณนี้มานั่งอ่านหนังสือ เราสามารถเห็นอะไรแบบนี้ได้ที่เชียงใหม่ มันอาจแปลกสำหรับบางคน แต่สำหรับเรา เราว่ามันเจ๋งดี ส่วนการอ่านหนังสือที่เชียงใหม่เราว่ามันปกตินะ มันไม่แปลก ด้วยบรรยากาศของเชียงใหม่มั้ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่แปลกถ้าเราจะหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน
พื้นเพพี่เป็นคนกรุงเทพฯ แล้วทำไมถึงเลือกมาเปิดร้านที่เชียงใหม่?
สองอย่าง อย่างแรกคือเราอยากมาเชียงใหม่อยู่แล้ว อยากมาตั้งแต่ยังไม่เคยมาเชียงใหม่ คือเราเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อหนังสือคือ ชูมาน ผู้แต่งคือพิบูลศักดิ์ ละครพล ที่เขียนถึงเชียงใหม่ ตั้งแต่มัธยมแล้วมั้ง เราอ่านแล้วเราประทับใจ เราอ่านแล้วเรามีภาพเชียงใหม่ในหัว หนังสือก็เก่าแล้วแต่มันมีภาพเชียงใหม่ที่ทำให้เรานึกได้ ภาพอ่างแก้ว ภาพมช. ภาพของท่าแพ ของร้านเล็กๆ ซึ่งเราเห็นภาพเชียงใหม่ในหัวแล้วเรามีความรู้สึกว่า น่าอยู่อ่ะ อยากมาอยู่ที่นี่ ช่วงนั้นจริงๆเป็นช่วงก่อนเรื่องเพื่อนสนิทจะฉายซะอีก ก็เพราะหนังสือเล่มนี้แหละเราก็เลยอยากมาเที่ยวเชียงใหม่ก่อนแต่กว่าจะได้มาก็หลังเรียนจบพอดี ครั้งแรกที่มาเลยคือเอาจักรยานขึ้นรถไฟมา เอามาปั่นที่เชียงใหม่ ก็มาคนเดียว ครั้งแรกที่เรามาเชียงใหม่ บรรยากาศที่เห็นคือมันไม่เหมือนที่เราคิดเลย! ใช้คำว่า ‘เลย!’ นะ เพราะบรรยากาศของหนังสือมันคือเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้วอ่ะมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เราเพิ่งขึ้นมาเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว มันก็เป็นเมืองขึ้นมาแล้ว แต่เราก็ชอบนะ คือเราชอบวัด ก็พอลงรถไฟมาเราก็ปั่นจักรยานข้ามสะพานนวรัตน์มาจะมาท่าแพ ตอนนั้นเรารู้จักแค่ท่าแพจริงๆ สิ่งที่เราเห็นระหว่างทางคือวัด วัดเยอะมากแบบจะเยอะอะไรขนาดนี้ ยิ่งมันไม่เหมือนภาคกลาง เรายิ่งตื่นตาตื่นใจ มีความสุขนะ แล้วพอมาอยู่จริงๆมันก็เป็นบรรยากาศเดียวกันนะ มีความชิว มีมช. มีนักศึกษา มันก็เป็นเมืองปกตินะแต่เรารู้สึกว่ามันต่างจากกรุงเทพฯ
ตอนแรกเราไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะได้มาอยู่ แต่เราคิดว่ามันมีแรงดึงดูดนะ ถ้าเรามีแอคชั่นกับอะไรบางอย่าง คือเรารู้จักพี่คนหนึ่ง เป็นเด็กมช.นี่แหละ เขาไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ แล้วเขากำลังจะกลับบ้าน เขามาเจอโครงการบ้านข้างวัด แล้วเขาก็มาชวนเรา เขาเห็นว่าเราอยากอยู่เชียงใหม่ อยากมาทำห้องสมุด เขาคงไม่คิดว่าเราจะมาจริงหรอก แต่อีกอาทิตย์หนึ่งคือเราก็นั่งรถทัวร์ขึ้นมาดูเลย คือช่วงนั้นเรากำลังจะลาออกจากออฟฟิศเก่า ตุลาคมเรายื่นใบลาออก เตรียมจะออกตอนสิ้นปี แล้วพฤศจิกายนเราไปเจอพี่เขาพอดี ตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าลาออกแล้วเราจะทำอะไร คิดว่าจะเที่ยวก่อนแล้วค่อยมองหางานใหม่แต่พี่เขาก็มาชวนเราพอดี เราก็มาดูแล้วใช้เวลาตัดสินใจสักพักหนึ่ง ประมาณเดือนกว่าๆ เราก็ตัดสินใจจะมาทำ เราว่ามันเป็นจังหวะชีวิตที่ดีนะ เพราะเราเชื่อว่าถ้าตอนนั้นเรายังทำงานที่บริษัทอยู่แล้วไม่มีความคิดจะลาออก ต่อให้พี่เขามาชวนเราก็คงไม่มา จริงๆ กว่าจะมาทำได้เราก็ต้องฟันฝ่ามาเยอะนะ อย่างที่บ้านอะไรแบบนี้เขาก็ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ เพราะเราใช้ชีวิตแบบปกติมาตลอด เรียน เข้ามหา’ลัย จบออกมาทำงานในแบบที่ชอบ แล้วก็ออก แล้วก็ย้ายมาทำอะไรก็ไม่รู้ เหมือนเรามีแค่ก้อนอะไรไม่รู้หนึ่งก้อนแล้วมาเริ่มทำอะไรสักอย่างโดยที่ก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง
ปกติถ้าคนชอบอ่านหนังสือจะอยากเป็นนักเขียนด้วย สำหรับตัวเราเคยฝันอยากเป็นนักเขียนไหม?
ตลอดเลยครับ ทุกวันนี้ก็เขียนบ้างนะ ถ้าส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับความขี้เกียจของตัวเองเป็นหลัก คือถ้าตัวเองขยันกว่านี้ อาจจะไปได้ไกลกว่านี้ก็ได้นะ คือการทำสเปซแบบนี้นอกจากการทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งเราคิดว่าเรามีอะไรอยากพูดมีอะไรอยากบอก ชุดทัศนคติเราอาจมีประโยชน์กับใครสักคน เราคิดว่าเราอยากเขียนเพื่อตอบสนองตัวเรา แต่ก่อนหน้านี้คือเรากลัว กลัวว่ามันจะไม่ดี ไม่เวิร์ค กลัวโดนด่า โดยที่เราลืมไปว่าเราอยากเขียนเพราะอะไร คือมันจะมีช่วงหนึ่งเราอยากเขียน แต่เราก็กลัวคนด่า ทำให้เราไม่กล้าทำมันออกมาจริงๆ เลวร้ายมาก (กระซิบเบาๆ) ก็คือเราจะเขียนเวลาที่อยากเขียน ส่วนมากก็ในเฟสบุ๊กหรือในเพจร้าน ประมาณนี้ คือเราคิดว่าทัศนคติเรายังเด็กไป จนมานึกได้เมื่อกี้นี้เลยว่า เออ... เราก็สามสิบกว่าแล้ว เราเชื่อว่าการใช้ชีวิตเรายังไม่เข้มข้นพอ คือเราเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับนักเขียนที่เขามีหนังสือออกมาแล้วอะไรแบบนี้ อย่างเราเอาตัวเองไปเปรียบกับโตมร สุขปรีชาอย่างนี้ เราไม่ได้รู้เยอะอย่างเขา ซึ่งจริงๆมันไม่เกี่ยวกันเลยนะ เขาก็เขียนของเขา เราก็เขียนส่วนของเรา มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย แต่นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าเราไม่ได้เลือกทำเพราะเรากลัวอะไรบางอย่าง จริงๆ มันเป็นความใฝ่ฝันเลยแหละว่าเราอยากมีหนังสือสักเล่ม
คิดว่าโลเคชั่นในการตั้งร้านสำคัญรึเปล่า?
เราคิดว่า สำคัญมาก 100 เปอร์เซ็นต์เลยแหละ แต่ในเคสเราคือเราเจอที่นี่ก่อนแล้วเราก็มาทำที่นี่เลย เราไม่ได้อยากทำที่เชียงใหม่แล้วมาหาที่ก่อน เราไม่ได้รีเสิร์ชโลเคชั่นมาเลย เรามาแล้วก็มาอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นลักษณะนี้คือขึ้นอยู่กับคนที่มาเที่ยวด้วย คือคนมาเที่ยวส่วนหนึ่งมาเพราะที่นี่เป็นบ้านข้างวัด แล้วมาเจอมาหาสมุดที่นี่ แต่บางคนก็มาที่นี่เพราะเขารู้จักมาหาสมุดอยู่แล้ว เพราะตอนเปิดมันดังมาก ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือข้อดีเพราะมันส่งผลกับสิ่งที่เราทำ ยิ่งคนรู้จักเยอะ ถ้ามีคนแชร์เยอะ มันก็มีการกระจายแรงบันดาลใจได้มากขึ้น แบบต่างประเทศอะไรแบบนี้ก็รู้จักเรา อย่างเวลาเปิดเว็ปแนะนำคาเฟ่อะไรแบบนี้แล้วเจอร้านเรา แล้วเขาอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้ เราคิดว่าถ้ามีคนรู้จักเยอะมันเป็นผลดีสำหรับเรา ส่วนการอยู่รอดของร้านมันไม่เกี่ยว
กัน
โอเค... วันหนึ่งเราอาจจะเลิกทำร้านนี้ไป แต่ในช่วงเวลาที่เราทำ เราว่ามันน่าจะส่งผลกระทบอะไรบางอย่างให้กับคนภายนอก คือต่อให้เราไม่ทำ มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตเรา แต่เราเลือกที่จะทำ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่ายิ่งคนรู้จักเยอะยิ่งดีสำหรับเรา มันไม่เกี่ยวว่าเราอยากเป็นคนดัง... ไม่สิ ใช่ เราอยากดัง เพราะว่าเราเชื่อว่าเรามีอะไรบางอย่างที่ตัวเราเองเป็นประโยชน์กับคนอื่นซึ่งมันต้องใช้ตรงนี้แหละ ยกตัวอย่างแบบ เก่ง ลายพรางอย่างนี้ เขาก็มีพื้นที่ของเขาที่ทำให้คนรู้จัก ก็เหมือนเราที่พยายามสร้างคอนเทนต์ สร้างพื้นที่ ในแบบของเราที่อาจจะส่งผลบางอย่างให้กับคนอื่น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เราอยากจะเป็นคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เรามองว่าการใช้ชีวิตของเราถ้ามันสร้างแรงบันดาลใจให้คนคนหนึ่ง เราว่ามันมีประโยชน์ ต่อให้เขามีแรงบันดาลใจมาจากหลายๆอย่าง แต่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาทำสิ่งที่มันเวิร์คกับคนอื่น เราว่ามันก็คุ้มแล้วที่เราทำตรงนี้
เราก็สามารถตอบได้ว่าเราทำเพื่ออะไร เอาจริงมันก็มีบางทีที่เราขี้เกียจ แต่เราก็รู้ว่าทุกวันนี้เราตื่นมาเพื่ออะไร แล้วเราต้องทำอะไรต่อ ถามว่าเวิร์คไหมในท้ายที่สุด... เราก็ตอบไม่ได้ แต่เราพอใจกับเวลานี้นะ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะตายตอนไหน อาจจะตายพรุ่งนี้เลยก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ เราแฮปปี้กับมันนะ เราอาจจะโชคดีที่เรามีจังหวะชีวิตที่ดี แล้วก็การตัดสินใจที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ เราอาจจะยังไม่ได้ทำสิ่งที่อย่างทำทุกอย่าง แต่เราว่าเราพอใจแล้วนะ ถ้าตายตอนนี้ก็ไม่เสียดายแล้ว