top of page
รูปภาพนักเขียน.doc team

เครื่องปั้นดินเผาหมู่บ้านกวน : ภูมิปัญญาชาวบ้านที่รอวันตาย?



หมู่บ้านกวนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบลหารแก้ว อ.หางดง ที่นี่มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ ที่ได้สืบทอดกันมายาวนานจวบจน ณ ปัจจุบันนี้ โดยจุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาของที่นี้นั้นคื่อ ยังคงใช้วิธีแบบโบราณไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้แป้นที่หมุนด้วยมือ การใช้ดินเหนียวผสมทรายมาทำ รวมไปถึงการปั้นแบบแยกเป็นส่วนๆ จากนั้นก็นำมาประกอบแล้วมาเผาเป็นขั้นตอนสุดท้าย


สิ่งที่ได้พบเจอนั้นเต็มไปด้วยคำถามในขั้นตอนการทำงาน ผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงอายุของผู้คนที่มาทำงานที่นี่ จนทำให้ผมสนใจที่จะพูดคุยกับประธานกลุ่มวิสาหกิจของที่นี่อย่าง คุณดารุณี นันโท และนี่คือบทสัมภาษณ์ของเรื่องราวของที่นี่ครับ


คุณดารุณี นันโท

Q : อยากให้เล่าถึงที่มาของโครงการเครื่องปั้นดินเผาครับ

A : จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มมาจากในสมัยก่อนสมัยพระยามังรายมาสร้างเวียงกุมกามได้อพยพชาวสิบสองปันนาโดยมีช่างสิบหมู่ได้มาอยู่ที่เชียงใหม่และก็มีช่างปั้นหม้อมาอยู่ที่บ้านกวนวัวลาย โดยทำเครื่องปั้นดินเผากันมานานแล้ว สืบทอดกันเป็นรุ่นสู่รุ่น



เมื่อก่อนทำเป็นอาชีพเสริมเวลาที่เหมาะกับการทำนาก็จะไปทำไร่ทำนาเพราะเสร็จจากการทำนาก็มาปั้นหม้อเป็นอาชีพเสริมส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นเพศหญิง โดยเริ่มแรกตั้งกลุ่มมาเพื่อเสนอข้อเสนอแนะ และรวมกลุ่มเพื่อนำไปเสนอให้แก่ลูกค้าข้างนอกแต่พอเวลาลูกค้าเข้ามาที่หมู่บ้านก็จะไม่เจอเพราะอยู่แต่ในบ้าน


เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง ผู้สนับสนุนในการรวมกลุ่ม

ต่อมาท่านเจ้าอาวาสวัดศรีสว่างได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบ้านหม้อท่านยินดีที่จะสนับสนุนเพราะว่าถ้าเราไม่รวมกลุ่มกันบางครั้งภูมิปัญญาเหล่านั้นก็สูญหายได้ก็เลยให้รวมกลุ่มมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้คนได้มารู้จักและมาศึกษารวมถึงความง่ายในการที่พ่อค้าจะเข้ามาค้าขาย

Q : อยากให้เล่าถึงจุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาที่นี่ครับ

A : จุดเด่นที่นี่คือหม้อน้ำ ในสมัยก่อนไม่มีรถ ผู้คนจะสัญจรไปด้วยการเดิน ทุกบ้านที่ติดถนนจะทำซุ้มน้ำ โดยจะเอาหม้อน้ำไปวางเพื่อให้คนที่สัญจร สามารถดื่มได้ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ดีที่สุด


Q : คิดว่าในปัจจุบันนี้มีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

A : เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง เคยเกือบหยุดทำ เพราะพ่อค้าก็ไม่ได้สนใจและผู้คนหันไปใช้พวกกระติกน้ำพลาสติกกันมากขึ้น แต่ตอนนี้ของใช้ส่วนใหญ่มีสารเจือปน เลยเกิดการรณรงค์ใช้หม้อดิน เพราะได้รับตรวจสอบจาก อย.ว่าปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อน ผู้คนจึงนิยมมากกว่าเดิม และพัฒนาในเรื่องการทำลวดลายให้มีความสวยงามและน่าสนใจกว่าเดิม โดยเรียกว่าการปั้นแปะ ผสมกันระหว่างการติดเส้น ติดทอง จากภูมิปัญญาในการทำเส้น ปั้นปูนที่ใช้ในการตกแต่งลวดลายของเจดีย์ โบสถ์ในวัด ผสมกับการปั้นหม้อรวมกัน


หม้อน้ำแบบเดินเส้น เพื่อเป็นการปรับภาพลักษณ์ของสินค้า

Q : ผู้คนรุ่นใหม่มีความสนใจหรือไม่

A : มีบ้างนะ แต่น้อยคน เพราะว่าเขาไม่เห็นความสำคัญ พ่อแม่ปลูกฝังให้เดินไปข้างหน้า ให้ไปหารายได้ที่ดี เพราะไม่อยากให้ลำบาก แต่สำหรับแม่คิดว่ามันไม่ลำบากเพราะพ่อค้าเข้ามาหาไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน แต่แม่ก็พยายามที่จะปลูกฝังเรื่องนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ถ้าเขาสนใจสามารถทำการตลาด ทำการค้าขายให้ดีกว่าเดิม

แม่เองก็ไม่อยากให้มันสูญหายไปไหนหรอก ในเมื่อเขาสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ก็อยากให้ทำกันไปเรื่อยๆ



Q : สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรทิ้งท้ายไว้หรือเปล่าครับ

A : สิ่งที่หวังที่สุดคืออยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการปั้นหม้อ เพราะสืบทอดกันมานานแล้ว ไม่อยากให้มันเป็นตำนานที่สูญหาย และแม่เชื่อว่ามันต้องเป็นอาชีพที่มั่นคงแน่นอน



หลังจากที่ได้รับฟังถึงเรื่องราวของกลุ่มวิสาหกิจเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนแล้ว สุดท้ายแล้วก็หวังว่าภูมิปัญญานี้จะมีคนสนใจมากขึ้น และไม่ขอให้สูญหายไปเหลือแค่ตำนานก็พอ

ดู 743 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page