top of page
  • รูปภาพนักเขียน.doc team

ครูโขน


ศิลปะในเชิงนาฎศิลป์ ถือเป็นอีก 1 ศาสตร์ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานนั้นคือ "โขน" เป็นอีก 1 ศาสตร์ที่อยู่ในกลุ่มนาฎศิลป์ เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย ใช้ท่ารำตามแบบ ละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้ เหมือนกับ ละคร แม้ในปัจจุบันการแสดงของโขนจะเริ่มสั้นลงตามช่วงเวลาในแต่ละที่ความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มน้อยลง


ผศ.คำนึง สุขเกษม อาจารย์สอนนาฎศิลป์ ผู้ที่คลุกคลีงานโขนมาเป็นเวลายาวนาน ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน และการสร้างสรรค์งานโขนต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี นอกจากจะเป็นอาจารย์สอนแล้ว ยังเป็นผู้ประพันธ์บทโขนตามงานต่างๆ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 กำลังจะมีการแสดงโขนเรื่องใหม่ ให้ได้ชมกัน

ห้องทำงานขนาดเล็ก เต็มไปด้วยหัวโขนที่ประดิษฐ์เองและอุปกรณ์การทำงานทั้งตัวหล่อหัวโขน พู่กัน ขวดสี แผ่นทอง ฯลฯ บนโต๊ะทำงานที่มีเอกสารและหนังสือวิจัยต่างๆเกี่ยวกับการแสดงโขนและนาฎศิลป์ที่เกี่ยวข้อง บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นจากความสนใจแบบพื้นๆของผม และอาจารย์คำนึงก็ได้ให้ข้อมูลอย่างดี






Q : เท่าที่ผมศึกษาข้อมูลมา โขนมีทั้งหมด 5 ประเภท ในปัจจุบันนี้ประเภทไหนนิยมสุดครับ? A : ปัจจุบันโขนนั่งราวและโขนชักรอกก็เลิกแล้ว ที่เหลือตอนนี้ คือโขนกลางแปลง เล่นที่อุทยาน ร.2 ที่สมุทรสาคร โขนฉากก็คือโรงละคร ที่เขาแสดงกันทุกวันนี้ก็เช่น โขนพระราชทาน โขนหน้าจอ คือโขนที่ต้องสร้างโรงโขนขึ้นมา อันนั้นเขาไม่ค่อยได้เล่นกันแล้วครับ Q : ส่วนโขนมักจะนำเรื่องรามเกียรติ์มาแสดงเกือบจะทุกครั้ง มีนำวรรณคดีเรื่องอื่นมาแสดงบ้างไหมครับ? A : สมัยก่อนเขาเล่นเรื่องพระอุณรุทด้วยครับ แต่เหตุที่เล่นเรื่องรามเกียรต์ เพราะว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องยาวมาก จนถึงขั้นต้องแบ่งเป็นตอนใหญ่ๆ มันขึ้นอยู่กับคนสร้าง อย่างตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง เขาไม่นิยมเล่นกัน Q : เรื่องทศกัณฑ์สั่งเมือง ผมสงสัยอยู่ว่าทำไมถึงไม่เล่นกันครับ? A : แต่ก็เคยแสดง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 คนที่เล่นในบททศกัณฐ์ หลังจากจบการแสดง ชีวิตของเขาเจอแต่เรื่องตกต่ำตลอด จนเสียชีวิต คนอื่นๆ ที่มาเล่นก็เจอเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านบ้าง ถูกรถชนบ้าง เหมือนตอนนี้มันมีอาถรรพ์ไปเล่นในโรงละคร โรงละครก็ไฟไหม้ แม้แต่เพลงที่ใช้ประกอบโขนตอนนี้ ชื่อเพลงว่า สยาครัว กับเพลงสยาเดิน เพลงก็มีอาถรรพ์ จนเรียกว่า “เพลงต้องห้าม” ต้องทิ้งไปเลย ห้ามเล่น ปกติตัวผมเป็นคนทำบทโขนให้คนอื่นเขาเล่น และเล่นกันอยู่ทุกวัน ที่นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญ ถ้าเราไม่เล่นโขนในตอนนี้ ศีรษะทศกัณฐ์อีกหน้าหนึ่ง มันก็กลายเป็นตำนาน นับจากรัชกาลที่ 6 มาจนถึงปัจจุบันนี่ก็ร้อยกว่าปีแล้วที่มันหายไป แต่ถ้าพูดถึงช่วงรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต จนถึงปัจจุบัน ก็ 90 กว่าปีแล้ว แต่ช่วงที่เล่นเป็นช่วงที่ท่านยังพระชนมชีพอยู่ ก็ร้อยกว่าปีแล้ว เลยมานั่งคิด สร้างบทโขนขึ้นมาใหม่ ให้แตกต่างจากต้นฉบับเล็กน้อย จุดประสงค์หลักก็คือต้องการเอาหน้าพระอินทร์ออกมาจากตู้ให้ได้


Q : เหมือนการเอาตำนานที่ถูกแช่แข็งออกมานำเสนอและแสดงใช่ไหมครับ? A : ถูกต้องครับ ไม่อยากให้เป็นตำนานและเรื่องเล่า ก็เลยจะสร้างขึ้นมา เลยเริ่มจากทำหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการ อธิการบดี หลังจากนั้นก็ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญจากศิลปินแห่งชาติ มาสอนท่ารำให้กับบุคลาการ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เผอิญตัวเพลงเนี่ย เรามีครูบุญช่วย ครูในวงการนาฏศิลป์ เลยได้เพลงนี้ เพราะว่าท่านได้จดเป็นโน้ตสากล เพื่อใช้ในงานศพครูเชื้อ เป็นเพลงไทย แต่จดเป็นโน้ตสากล ครูแช่มก็มาเขียนเป็นโน้ตสากลด้วยเช่นกัน ในตอนนี้ก็ถ่ายเป็นไมโครชิพ เก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติครับ Q : จะได้ชมผลงานนี้กันเมื่อไรครับ? A : คาดว่าจะได้ชมกันเดือน กุมภาพันธ์ 2560 นอกจากนี้ยังทำเป็นผ้าป่าสามัคคีด้วย เท่ากับว่าคนที่มาดูโขนชุดนี้ เหมือนมาดูฟรี จ่ายเงินทำบุญผ้าป่า สร้างกุฏิ อุทิศผลบุญให้แก่ครูบาอาจารย์ที่เป็นเทพในวงการนาฏศิลป์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาเรื่อยมาจนล่วงลับไปแล้ว และก็ให้พ่อ แม่ และญาติพี่น้องของเรา อย่างน้อยๆ ให้เขามีที่อยู่อย่างแน่นอน วันที่แสดงโขน หลังแสดงเสร็จ จะเชิญคนดูมาร่วมถวายผ้าป่า และนิมนต์พระขึ้นบนเวทีในโรงละครเลย ผู้แสดงออกมารับช่วงปิดท้ายเรียบร้อยก็นั่งพับเพียบ ถวายพร้อมกันหมดเลย และจะประกาศด้วยว่าเราได้ค่าบัตรเท่าไหร่ บัตรอันนี้เราใช้คำว่า “อนุโมทนาบัตร” กรรมการผ้าป่ามีกี่คน ได้เท่าไหร่ จำหน่ายวัตถุมงคลไปเท่าไหร่ก็ถวายให้วัดไปทั้งหมดเลย อีกอย่าง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ก็เป็นวันพฤหัสบดี เราจะทำพิธีทางสงฆ์ด้วย มีการนิมนต์พระมาสวดชัยยะมงคล ทั้งหมด 9 รูป และก็ทำพิธีครอบครูคือทุกอย่างมันมีทั้งผูกและแก้ เพื่อให้ศิลปะมันไม่ตาย แต่เราไม่ได้เล่นถึงตาย เดี๋ยวต้องมีสร้างกล่องดวงใจขึ้นมาใหม่ สร้างหัวขึ้นมาใหม่ และก็มีเกราะให้ทศกัณฐ์ใส่ ทำเป็นลายไทยแล้วสร้างขึ้นมา



Q : ขอสอบถามเรื่องวิธีการทำหัวโขนของอาจารย์ นี่ถือว่าทำแบบโบราณใช่ไหม? A : ใช่ครับทำแบบช่างสิบหมู่ เพราะว่าเคยเป็นศิษย์ที่นั่น เคยฝึกที่นั่น ทำแบบโบราณ คือโขนมันไม่มีคำว่ามาตรฐานนะ มีแต่คำว่าสมบูรณ์ ถ้ามีแต่มาตรฐาน จะมาพลิกแพลงทำลายอื่นนี่ไม่ได้เลยนะ ทีนี้ มันมีความอิสระ แต่มันต้องสมบูรณ์ เท่านั้นเอง ตั้งแต่ดั้งเดิม ใช้กระดาษแปะบนหุ่นปูน หรือแบบไหนก็แล้วแต่ ยุคโบราณเขาใช้กระดาษข่อยมาแปะ ช่างสิบหมู่เขาใช้กัน แต่มันหายากแล้ว ข้อดีของมันมีเยอะ ทั้งเหนียว ทำง่าย ค่อนข้างคงทน ตอนหลังเขามาใช้ถุงปูนมาแปะ แต่มีข้อเสียคือ แปะแล้วมันจะตึงหมดเลย และรายละเอียดก็ไม่มีให้เห็น ต้องมาเสริมรายละเอียดอีกที แต่กลายเป็นหนัก ตอนหลังเลือกที่จะไม่แปะข้างหน้าหุ่น ใช้แปะย้อนจากข้างในหุ่นแทน ทำพิมพ์ย้อน ให้มันได้โครงออกมา แล้วเอามาแต่งให้เนียน วิธีการแต่งก็จะใช้ดินสอพอง กับกาวลาเท็กซ์ ผสมกันแล้วเอามาทา แล้วก็ขัดให้เนียน พอหน้าเนียนแล้วก็เอากระดาษสา มาแปะ พอแปะแล้วก็ลงสี เราใช้สีพลาสติกมาลง เพราะตัวเนื้อสีมีกาวอยู่ในตัว แล้วเราก็ลงสีจริง หน้าก็จะดูคมทั้งหมด และเบามาก แต่ถ้าทำตามโบราณทั้งหมด ทำเสร็จแล้วจะใส่เล่นไม่ได้ เพราะว่ามันหนัก หุ่นที่ใช้ทั้งหมด ใช้ขี้ผึ้ง ไม่ได้ใช้ปูน เพราะว่ามันแกะง่าย อย่างหัวนนทกที่เห็นอยู่นี้ นาฏศิลป์โคราชเขาขอเลย เขาถามว่าเอามาจากไหน ก็บอกไปว่าเอามาจากรูปปั้นหน้าโรงละครแห่งชาติ ถ่ายรูปไว้แล้วเอามาแกะลายและปั้นออกมา แต่ละหัวมีที่มาที่ไปทั้งหมด ไม่มีใครว่าเราได้คืออยู่ในวงการนาฏศิลป์ ถ้าเรารู้จักกตัญญู ไม่มีวันอดตาย ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านไหนทิ้งเราแน่นอน ถึงแม้อายุจะ 60 แต่ก็ยังต้องเคารพครูอาจารย์อยู่นะ ฉะนั้นแล้ว พอเราจะทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เขารู้แล้ว เขาก็จะมาช่วยเราทั้งหมดนั่นแหละ





หัวโขน 1 หัว ใช้เวลาในการทำมากน้อยขนาดไหน? มันกำหนดเวลาไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ มันต้องทำไปเรื่อยๆ ไปตามเวลาของมัน ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเร่งทำให้เสร็จเร็วขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนปั้นหุ่น เอาง่ายๆ แค่ปั้นบางส่วนขึ้นมาบนหน้า ก็กินเวลาไปสัปดาห์นึงแล้ว ถึงด้านหน้าจะแห้ง แต่ส่วนอื่นไม่แห้ง ก็ไปต่อไม่ได้ ต้องเอาไปตากแดดต่ออีก แต่ถ้าเป็นแบบในกรุงเทพที่เขาทำกัน แค่สัปดาห์เดียว มารับของได้เลย เพราะว่าเขาใช้ซีลิโคน เอาหุ่นสองส่วนมาประกบเป็นชิ้นเดียวกันครับ

ประมาณ 1 เดือน พอจะได้ไหมครับ? อาจจะเร็วกว่าครับ มันแล้วแต่ละตัวละครครับ





Q : ในเรื่องการเรียนการสอนที่นี้ อาจารย์มีส่วนร่วมอะไรบ้างครับ? A : หลักๆแล้วผมดูภาพรวมเป็นหลัก แต่จะหนักตรงรายละเอียด เช่น ท่าทาง และเนื้อเรื่องครับ ส่วนการเรียน การสอนนั้น จะมี 2 แบบ คือ ขั้นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และ ขั้นสูง สำหรับนักเรียนระดับอุดมศึกษา ผมจะดูตรงขั้นสูงมากกว่า ส่วนตัวละครมีการคัดตามสัดส่วนจากนักเรียนจริงๆ เช่น ตัวละครลิง ต้องผอม สูง และคล่องตัว ส่วนฝั่งยักษ์ ต้องตัวใหญ่ ดูน่าเกรงขาม

นอกจากนี้ ผมยังสอนให้ผู้ที่สนใจจากภายนอกด้วย อย่างน้องอะลัวร์ ชั้นอนุบาล 2 จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ​​

ก็มาเรียน เพื่อไปประกวดงานระดับประเทศ น้องก็มาเรียนรู้เรื่องท่าทางและทำความเข้าใจกับโขนมากขึ้น ก็สนุกอยู่นะที่ผมได้สอนเด็กๆรุ่นหลัง เพราะอยากให้เด็กรุ่นใหม่สืบสานวัฒนธรรมตรงนี้ไปนาน ขณะที่เด็กนักเรียนได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการเรียนโขนและได้ใกล้ชิดกับอาจารย์คำนึง โดยได้เล่าว่า "ถ้าเรื่องการสอน อาจารย์เขาจะสอนให้รู้เรื่องจารีตประเพณีและก็ข้อที่ควรปฎิบัติเกี่ยวกับโขนบ้านเราว่าควรทำอย่างไรบ้างประมาณนี้ครับ" นอกจากนี้ยังได้สอนเรื่องการทำหัวโขนซึ่งน้องนักเรียนได้เล่าให้ฟังว่า"รู้สึกว่ามัน เป็นอาชีพเสริมได้ อีกทั้งยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยครับ นอกจากนี้อาจารย์ยังคอยชี้แนะเวลาทำงาน ซึ่งเป็นคนที่มีรายละเอียดมากครับ"

Q : เรื่องวัฒนธรรมประยุกต์ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรครับ? A : ผมมองว่าถ้าจะประยุกต์จริงๆ มันต้องศึกษาดูก่อนว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรที่แก้ไขได้ หรือไม่ได้บ้าง ก็ต้องถามพูดเชี่ยวชาญอีก อันที่จริงมันอยู่ที่เจตนาของคนที่นำไปใช้มากกว่า ถ้านำไปใช้ในด้านการเพิ่มคุณค่า หรือนำไปเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติเห็น อันนี้ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ถ้านำไปใช้ในด้านเสียๆหายๆ อันนี้ก็รับไม่ได้เช่นกัน อย่างกรณีข่าวเพลง "เที่ยวไทยมีเฮ"นี้ เข้าใจเจตนาผู้สร้างนะ จริงๆทำแบบนี้ก็ได้ แต่อยากให้อิงกับวรรณคดี สร้างราชรถมาทับรถได้ มันจะสวยงามกว่า ให้ทศกัณฐ์นั่งบนราชรถ เหล่าทหารเสนารักษ์ก็เรียงแถวกันมาเลย จะไปที่ไหนก็ให้ราชรถพาไปเลย ชี้ไปที่นู่นก็ไป ชี้ไปที่นี่ก็ไป วิธีการทำมันเยอะแยะ แต่ถ้าทำตามวิธีที่พี่บอกเนี่ย มันจะสนุก และทำอะไรได้เยอะกว่านะ


Q : สุดท้ายครับ มีอะไรจะฝากถึงการรักษาวัฒนธรรมโดยเฉพาะ"โขน"ครับ A : เราต้องเริ่มจากตัวเองก่อนครับ ถ้าเกิดรักษาและพร้อมดูแลโขนได้ เราก็สามารถขยายให้คนอื่นต่อไปได้ นอกจากนี้เราควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ และแนะนำข้อดีให้เพื่อนๆเพื่อให้เกิดความสนใจ เพราะสุดท้ายศิลปะ จะไม่เป็นตำนานหากมีคนช่วยกันสืบสานต่อไปครับ

 

ตลอดเวลาการสัมภาษณ์ของอาจารย์ คำนึง สุขเกษม ทำให้เราได้เห็นถึงวิธีการทำงานที่มีความละเอียด และแก้ไขปัญหาต่างๆได้ตรงจุด ซึ่งสามารถประยุกต์ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังทำให้เราได้รู้จักโขนมากยิ่งขึ้น จากที่เป็นเพียงศิลปะที่กำลังจะเป็นตำนาน แต่ครูคำนึงและลูกศิษย์ต้องการให้โขนไม่ให้เป็นศิลปะที่ถูกแช่แข็ง ด้วยการอาศัยความรู้ ความชำนาญมาเป็นเวลากว่า 40 ปี จึงทำให้โขนยังเป็นศิลปะยังมีอยู่และให้คนรุ่นหลังสืบสานศิลปะนี้ต่อไป

 

ดู 1,058 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

GROUPIE

bottom of page