top of page
รูปภาพนักเขียน.doc team

4/5 CNX

อัปเดตเมื่อ 5 พ.ย. 2563



.........................................

หากคุณกำลังเดินทางมาในตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วขับรถวนรอบเมือง

จะสังเกตเห็นอิฐและกำแพงเก่าๆ รายล้อมย่านเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2475 “คูเมือง”

เป็นพื้นที่เก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยคูเมืองถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย

เพื่อเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ประกอบไปด้วย 4 แจ่ง (มุม) และ 5 ประตู

แจ่งหมายถึงส่วนมุมของคูเมือง ซึ่งทำหน้าที่เป็นป้อมปราการในอดีต แต่ละแจ่งจะเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ แจ่งทั้ง 4 ได้แก่ แจ่งศรีภูมิ ซึ่งถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ แจ่งก๊ต้ำ ซึ่งในอดีตผู้คนนิยมมาจับปลาเพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดทำให้มักมีปลาชุกชุม ซึ่งในปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นคนจำนวนไม่น้อยมาตกปลาหรือเด็กๆมาเล่นน้ำในบริเวณนี้อยู่ในช่วงวันหยุด แจ่งกู่เฮือง ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของอ้ายเฮืองผู้ที่ได้ชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู และแจ่งสุดท้าย แจ่งหัวลิน ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำแบบโบราณ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนของประตูทั้ง 5 ได้แก่ ประตูช้างเผือก ในสมัยก่อนใช้เป็นประตูในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปัจจุบันบริเวณประตูช้างเผือก ได้กลายเป็นย่านการค้าและการคมนาคมที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นที่ตั้งของตลาดช้างเผือก และสถานีขนส่งอีกด้วย ประตูท่าแพ ในอดีตเป็นจุดรับส่งสินค้าที่มาทางแพ แต่ในปัจจุบันประตูท่าแพถือเป็นแลนด์มาร์คของนักท่องเที่ยว เป็นลานในการจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ และเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมของคนเชียงใหม่อีกด้วย ประตูเชียงใหม่ ถือเป็นประตูธุรกิจ เพราะตั้งอยู่ในแหล่งธุรกิจ ตลาด ร้านค้า และยังเป็นจุดจอดรถโดยสารเชื่อมไปยังอำเภอต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย และในเวลาบ่ายๆก็มักจะเห็นผู้คนที่ประกอบอาชีพในบริเวณนี้มาอาศัยร่มเงาของกำแพงอีกด้วย ประตูสวนปรุง นับตั้งแต่อดีตหากมีการเสียชีวิตภายในเขตเมืองจะต้องนำศพออกทางประตูนี้ ซึ่งก็ยังคิดถึงๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน โดยในบริเวณนั้นได้มีการตั้งศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และสุดท้ายประตูสวนดอก ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังราย ในปัจจุบันจะมีผู้คนจำนวนมากมาออกกำลังกายในยามเช้าในบริเวณนี้

แม้ความเป็นพื้นที่เมืองเก่าของพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองที่อดีตหล่อหลอมขึ้นมาและความทรงจำที่ผู้คนมีต่อพื้นที่อันอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่มีค่าและเป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา แต่เชื่อว่าสี่เหลี่ยมคูเมืองไม่ได้มีเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์เพียงมิติเดียว ผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของเจ้าผู้ครองนคร เป็นจุดหมายตาที่ทั้งกำหนดวิถีชีวิตผู้คน ปลูกฝังความเคารพยำเกรง และสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ผืนดิน ทุกวันนี้คือสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อการประกอบอาชีพ การทำกิจกรรม ดำเนินชีวิต ไปจนถึงสถานที่ทางความเชื่อ ยังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องหลายมิติที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวซ้อนทับอยู่บนความเป็นเมืองเก่าที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวในอดีต ร้านรวงมากมายผุดขึ้นบ่งบอกถึงความหลากหลายของพื้นที่ที่สะท้อนบทบาทและหน้าที่ใหม่ของคูเมือง มรดกทางวัฒนธรรมทุกวันนี้อยู่เคียงคู่กับวัฒนธรรมบนท้องถนนซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยคนรุ่นใหม่ที่กล้าเล่นกับความเป็นเมืองเก่าของพื้นที่ กิจกรรมและกิจการในพื้นที่เกิดการซ้อนทับกันระหว่างความเก่าและความใหม่ ร้านรวงและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่แปลกใหม่ ท้าทายศักยภาพเดิม คืออีกหนึ่งมิติที่สำคัญของพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมือง

.........................................

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page