"ดอยเต่า" คำที่ใครได้ยินก็คงจะต้องนึกถึงเพลง "หนุ่มดอยเต่า" ของวงนกแล วงดนตรีของเด็กๆ ชาวเขา ที่ทำให้คนทั่วประเทศรู้จักอำเภอเล็กๆแห่งนี้
“แล้วดอยเต่านั้นอยู่ที่ไหน? จะเหมือนกับดอยอินทนนท์รึเปล่า?”
คงจะเป็นคำถามที่ใครหลายๆคนคงอยากจะรู้ ซึ่งเราเองก็เช่นกัน มีโอกาสได้มาสัมผัสกับที่นี่เป็นครั้งแรก เพียงเพราะได้ข่าวว่าที่ดอยเต่ามีทะเลสาบด้วย เราเลยสนใจที่จะตามหาทะเลสาบ ในใจก็คิดว่าที่แห่งนี้น่าจะสวยเลยทีเดียว
ก่อนอื่นเลย เราเริ่มจากการสืบค้นข้อมูลว่าอำเภอดอยเต่า มีที่มาที่ไปยังไง
ดอยเต่า คืออำเภอหนึ่งทางสายใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ก็น่าจะเป็นเพราะทะเลสาบดอยเต่า หรืออ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก ที่ทำให้ที่นี่มีชื่อเสียง ซึ่งทะเลสาบดังกล่าวเกินขึ้นตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. 2507 ปีที่สร้างเขื่อนภูมิพล ดอยเต่าถือเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อน หรือถ้าเป็นถนนก็ต้องบอกว่า ดอยเต่าเป็นหลัก ชาวเขาซึ่งอาศัยอยู่ในที่ลุ่มของอ่างเก็บน้ำได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่บนที่สูงเหนือเขื่อน ตามนโยบายขอรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะนั้นมีอาชีพปลูกพืชผักสวนครัวตามเชิงเขาริมน้ำเป็นหลัก
ต่อมาในระยะหลังๆราวปี 2542 เป็นต้นมา มีฝนตกชุกตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้น้ำในอ่างมีปริมาเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมบริเวณแปลงเพาะปลูก การจับปลาในทะเลสาบจึงกลายเป็นอาชีพหลัก โดยมีร้านอาหารบนแพ และแพที่พัก เป็นธุรกิจที่ติดตามมาพร้อมๆกับการท่องเที่ยว
รูปภาพอดีต อ้างอิงจาก : http://www.panoramio.com/photo/31469009
และในปี 2556 ดอยเต่าก็ได้ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำในทะเลสาบแห้ง และผลจากการที่ทะเลสาบดอยเต่าต้องประสบภาวะแห้งขอดตื้น คือการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการทำประมงพื้นบ้าน ที่ต้องมีการเรือหรือแพหาปลา ลึกเข้าไปในตัวอ่างเก็บน้ำเป็นระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร เพิ่มต้นทุนในการเดินทางเข้าไปจับปลาและนำปลาไปส่งขายที่ตลาดรับซื้อ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านหลายรายถึงกับต้องหยุดหาปลาในช่วงนี้แล้วหันไปประกอบอาชีพรับจ้างอย่างอื่นแทน เช่น การเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นต้น
นอกจากชาวประมงแล้ว แพท่องเที่ยวของเอกชนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน จากการที่เคยมีรายได้วันละนับหมื่นบาทจากการพานักท่องเที่ยวล่องแพค้างแรมในทะเลสาบดอยเต่า และล่องไปถึงเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ในเวลานี้ก็ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติเนื่องจากปริมาณน้ำในทะเลสาบที่ตื้นเขิน ต้องจอดแพเกยตื้นและขาดรายได้มานานหลายเดือนแล้ว แพท่องเที่ยวของเอกชนทั้งหลาย ก็พากันเลิกกิจการทิ้งแพให้ร้างอยู่ในทะเลสาบที่แห้งขอด
ปัจจุบัน ทะเลสาบแห่งนี้ก็ได้เปลี่ยนบริบทจากเดิมที่เคยเป็นท้องน้ำให้ชาวประมงได้หาปลา กลับกลายมาเป็นทุ่งเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้ไม่สามารถหวนคืนความสวยงามที่เคยมีในอดีตได้อีกเลย เหลือไว้แต่ซากเรือเกยตื้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่
จากผลงานภาพถ่ายชุด “ทะเล(ที่ถูก)สาป” นี้ ตัวเราเองก็อยากนำเสนอภัยแล้วที่เริ่มเข้าใกล้คนเราทุกวันแล้ว ก็เป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อนที่ทั้งโลกกำลังเจออยู่นั่นหละ ซึ่งทุกสิ่งทุกย่างที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์อีกที ที่ไม่รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด อีกหน่อยในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องสูญเสียสถานที่สวยงามแบบนี้ไปอีกกี่ที่ อย่าให้เสน่ห์ของสถานที่เหล่านี้เหลือไว้เพียงความทรงจำของคนรุ่นก่อน แต่ควรเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้เชยชมและซึมซับความสวยงามของธรรมชาติจากรุ่นสืบรุ่น เพียงแค่ทุกคนในวันนี้ช่วยกันรักษาธรรมชาติและใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อความสวยงามทางธรรมชาติของที่อื่นๆ ให้คงอยู่ตลอดไป