"เชียงใหม่" เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่เสน่ห์ของผู้คนและวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น หากความงดงามอยู่ที่ธรรมชาติ ความเขียวขจีของต้นไม้ แม้แต่ในเขตเมือง รอบๆ คูเมืองเชียงใหม่ยังร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ ถนนหลายสายมีต้นไม้ใหญ่ออกดอกและให้ร่มเงา แต่สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ คือภายใต้ลำต้นที่แข็งแรง เติบโต ต้นไม้บางต้นกำลัง..ป่วย และยืนต้นตาย หากไม่ได้รับการรักษา จาก "หมอต้นไม้"
อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ปี 2550 "บรรจง" มีโอกาสติดตามการทำงานของ ดร.ฮามาโน่ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่เดินทางพร้อมทีมอาสาสมัคร โครงการหมอต้นไม้ (Tree can expert) ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) หรือไจก้า เพื่อทำเมืองสีเขียวให้เชียงใหม่ โดย “อ.บรรจง" ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงาน
บทสัมภาษณ์ อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย
ข้าพเจ้า : โครงการหรือกิจกรรมที่อ.บรรจงทำอยู่มีอะไรบ้างครับ ?
อ.บรรจง : "ผมพาเด็กไปหาประสบการณ์จริงจากผู้รู้ ในพื้นที่ 2 เส้นทาง คือดูแลต้นยาง ตลอดแนวถนนสาย อ.สารภี และ ดูแลต้นฉำฉา ตลอดถนนสายวัฒนธรรม อ.สันกำแพง เราพบปัญหาหนักหนาสาหัส คือต้นยางอายุกว่า 100 ปี ต้องอยู่กับถนนและประชาชนที่ไม่รู้สึกปลอดภัยกับการมีต้นยางหน้าบ้าน หรือหน้าร้านค้า ทำให้ต้นยางถูกตัด เหลือแต่ตอ โดยต้นยางกว่า 1,000 ต้น เหลือกว่า 700 ต้นที่ อยู่ในสภาพเจ็บป่วย ส่วนอีก 300 ต้นต้องหายไป จากถนน"
อ.บรรจง : "ทุกครั้งที่เห็นการตัดต้นไม้ข้างถนน แบบตัดคอ รู้สึกสงสาร หดหู่ใจ เพราะต้นไม้จะช็อค แผลใหญ่มากกว่าจะ ฟื้น เพราะต้นไม้ให้คุณประโยชน์ แต่คนตัดไม่ทันคิด หรือคิดไม่ถึง อยากให้ช่วยกันคำนึงมากกว่านี้ เพราะเรา รณรงค์ลดโลกร้อน แต่ไม่ดูแลสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง มีแต่ทำลาย และไม่มีเจ้าภาพที่จะรับผิดชอบ"
ปัจจุบัน ทุกวันหยุด "อ.บรรจง" จะหอบสิ่ว เข็ม ค้อน มีด และเสียม ไปพร้อมกับอาสาสมัครหมอต้นไม้ ตระเวนดูแลต้นไม้ใหญ่รอบๆเมือง ทั้งต้นละมุดสีดา และมะเฟือง อายุกว่า 100 ปี ที่บ้านหลวงอนุสารสุนทร ต้นตระกูลนิมมานเหมินท์ ต้นฉำฉารอบคูเมือง และในวัดสำคัญต่างๆ โดยนำเทคนิคที่เรียนรู้จาก ดร.ฮามาโน่มาใช้ เช่น ทำไส้เทียมให้ต้นไม้ที่เกิดโรคภายในต้น ฉีดซิลิโคน แผ่นอะครีลิค เพื่อทำสะพานเชื่อมลำต้นกับเปลือกให้ต้นไม้มีอายุยืนขึ้น
ในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2560 ได้มีการจัดกิจกรรม Tree Talk เสวนาเรื่อง "การดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง" หัวข้อ เขียวเต็มเมือง : ปลูก ปรับ เปลี่ยนเพื่อเชียงใหม่ ได้พูดถึงเรื่องการดูแลต้นไม้ในรอบๆคูเมืองเชียงใหม่ในส่วนที่ต้นไม้ที่มีอายุเยอะแล้วเราจะทำอย่างไรให้เพิ่มอายุของต้นไม้เพราะต้นไม้บางต้นที่ยังคงอยู่เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้นไม้ต้นนี้ยังแข็งแรงอยู่หรือไม่เพราะจากที่เราสัมผัสได้เราก็รู้แค่ว่าต้นไม้ต้นนี้อายุเยอะบางต้นไม่ต่ำกว่า200กว่าปีแต่สิ่งที่เราไม่ทราบนั้นก็คือข้างในต้นไม้มีอะไรผุไปบ้างไหม หมอต้นไม้เลยต้องมีหน้าที่บำรุงและรักษาต้นไม้ให้สวยงามอยู่เหมือนเดิม
นอกจากอ.บรรจง สมบูรณ์ชัยแล้วยังมีภาคส่วนอีกหลายภาคส่วนที่ยังมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดูแลรักษาต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ผู้จัดการการไฟฟ้า เชียงใหม่ 2 , กรมทางหลวง , กลุ่ม big tree กทม. , สายกลาง กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ชาวเมืองเชียงใหม่
อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัยยังได้มีลูกทีมซึ่งเป็นอาสามัครที่เป็นหมอต้นไม้ในแบบชุมชน โดยมีคุณลุงอาณัติ คลังวิเชียร (ลุงโม่) ที่เป็นลูกทีมและคุณลุงโม่ก็ได้เป็นประธานชุมชนพวกแต้ม ซึ่งชุมชนนี้ได้มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ช่วยดูแลเรื่องต้นไม้ในชุมชนและชุมชนพวกแต้มยังเป็นชุมชนนำร่องเรื่องต้นไม้อีกด้วย
คุณลุงโม่ อาณัติ คลังวิเชียร
ประธานชุมชนพวกแต้ม ประธานเมืองรักษ์เชียงใหม่ ที่ปรึกษา เขียว สวย หอม
บทสัมภาษณ์ลุงโม่
ข้าพเจ้า : หมอต้นไม้ในแบบชุมชนลุงพอที่จะทำอะไรได้บ้างครับ ?
ลุงโม่ : ได้เหมือนหมอต้นไม้ทั่วไปเลยแต่ว่าหมอต้นไม้แบบในชุมชนเราไม่มีอุปกรณ์มากมาย เราก็มีสิ่ว ค้อน เลื่อย ขวาน ของธรรมดาที่คนในชุมชนพอจะทำได้เท่านั้นแหละ ดูโน้นต้นหูกวางโน้น 2ปีก่อนมันเกือบจะตายละ
ลุงเนี้ยแหละเลยใช้วิชาหมอต้นไม้ที่ไปเรียนมาจากอ.บรรจง ลุงก็เอามาดูแลรักษาต้นหูกวางให้มันงามเหมือน เดิม...
บริเวณบ้านในชุมชนพวกแต้ม ตำบล พระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่
บทสัมภาษณ์คุณลุงโม่
ข้าพเจ้า : ในชุมชนพวกแต้มทำไมถึงมีต้นไม้และดอกไม้เยอะขนาดนี้ครับลุงโม่ ?
ลุงโม่ : โอ้ว...อนาคตหนาลุงจะหื้อชุมชนพวกแต้มเป็นตัวอย่างในการปลูกต้นไม้ละก็หื้อทุกบ้านจ้วยกั๋นดูแลรักษาต้นไม้ ภายในชุมชนพวกแต้มหื้อมันงามคนต่างชาติมาผ่อเขาชอบเน้อ
และหลังจากสัมภาษณ์คุณลุงโม่เสร็จผมก็ยังได้เจอกับหมอต้นไม้ที่เป็นลูกทีมอีกคนที่ทำงานด้วยกันกับลุงโม่อีกด้วยครับ... นั่นก็คือคุณป้าแดง นฤมล คลังวิเชียร ซึ่งคุณป้าแดงได้พาผมไปดูต้นลิ้นจี่ที่ปลูกไว้หน้าบ้านของแกซึ่งคุณป้าก็เล่าให้ฟังมากมายเรื่องหมอต้นไม้และมีประโยคนึงที่คุณป้าแดงบอกว่าป้าชอบมาเมื่อตอนป้าไปกรุงเทพฯคือ "ต้นไม้เจ้ามีชีวิต แต่เจ้าดูดควันพิษแทนข้า" หลังจากนั้นป้าก็ได้รู้สึกรักต้นไม้มาก และป้ายังบอกอีกว่าปลูกต้นไม้มันต้องเอาใจใส่ก่อนถ้าเราไม่เอาใจใส่ต้นไม้ก็จะตาย มันก็เหมือนคน ที่จะต้องกินข้าวกินน้ำเหมือนกัน
คุณป้า นฤมล คลังวิเชียร ( ป้าแดง )
อาสาสมัครหมอต้นไม้ในชุมชนพวกแต้ม
หมอต้นไม้สำหรับผม ผมคิดว่าสำคัญมากครับในปัจจุบัน เพราะหมอต้นไม้ไม่ต่างอะไรจากหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ช่วยรักษาคนให้กลับมาอาการดีเหมือนเดิมแต่หมอต้นไม้ไม่ได้มีเสื้อกาวน์และทุกคนก็ยังเป็นหมอต้นไม้ได้ครับ ขอแค่เราเอาใจใส่และหมั่นดูแลต้นไม้ก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่แน่ครับ บางต้นที่ปลูกไว้เผลอๆ อาจจะเคยรับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินมาก็ได้ครับ