มูลนิธิรวมใจ อปพร.
การก่อตั้งมูลนิธิรวมใจ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อำเภอเมืองเชียงใหม่ สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายที่จะฝึกราษฎรอาสาเข้าร่วมช่วยเหลือทางราชการและช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน” หรือชื่อย่อว่า อปพร. ทางอำเภอเมืองเชียงใหม่จึงได้ตอบสนองนโยบายและได้จัดอบรมอาสาสมัครขึ้นและทำกิจกรรมหลายอย่างโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ซึ่งทำด้วยใจรัก เสียสละ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และไม่มีนโยบายขอรับบริจาคนอกสถานที่
ต่อมาได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพื่อจัดตั้งคณะบุคคลซึ่งได้อาสาช่วยเหลือประชาชนโดย
มีท่านพยูณ มีทองคำ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในขณะนั้นให้การสนับสนุนอย่างดีและได้มี อปพร. อำเภอเมืองเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง นำโดยนายวีระศักดิ์ ธนุษย์พงษ์ ได้บริจาคเงินเพื่อจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิเป็นนิติบุคคล โดยใช้ชื่อว่า “เชียงใหม่ ท่ง ซิม กิ้ว ใจ กี่ กิม หวย” และได้รับใบอนุญาตจากทางราชการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533
มูลนิธิฯมีทั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ประจำ โดยมีนายวีระศักดิ์ ธนุษย์พงษ์ เป็นประธานก่อตั้ง ในเวลาต่อมาท่านได้เสียชีวิตลง ประธานคนปัจจุบันคือดร.มรว.เจริญสุข สุขสวัสดิ์
หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาสาฯคือนายจรูณ พิสุทธิ์ ทำงานมานานกว่า 25 ปี เริ่มแรกที่มาทำงานอาสานี้เพราะได้ไปเห็นคนประสบอุบัติเหตุตอนกำลังจะเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่แล้วก็ไม่มีคนมาช่วย มีแต่คนมุงดูกันธรรมดา สมัยนั้นคนช่วยจริงๆจะเป็นตำรวจมากกว่า รถพยาบาลก็ไม่มี ครั้งแรกที่ได้เริ่มออกปฎิบัติงานคือตื่นเต้นและกลัวมาก เจอศพก่อนเลยแต่พอเริ่มทำงานมาเรื่อย ๆ แล้วมันก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองเพราะมันช่วยเหลือผู้อื่นใจเราก็มีความสุขถึงจะไม่ได้รับความชื่นชมเลยก็ตาม เจองานยากสุดคือตอนที่ฝรั่งตกมากจากน้ำตกมณฑาธารที่ดอยสุเทพเข้าไปช่วยยากมากเพราะต้องผ่านหินผ่านน้ำกว่าจะช่วยได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร แต่เหตุที่ถูกแจ้งมากที่สุดคืออุบัติเหตุทางถนน
“ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ทุกคนรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันด้วย เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดตอนไหนช่วยได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย ”
- จรูณ , หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาสาฯ -
นายพลวัฒน์ สุตตะ ชื่อเล่นชื่อ ซัน ทำงานมา 5-6 ปีแล้ว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย สมัครเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยเลยไม่ได้เป็นอาสาสมัครมาก่อน กว่าจะได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ ก็ต้องมีฝึกการพยาบาลเบื้องต้นก่อน ทำแผล ดามแขนดามขาและอีกมากมาย พอทำทุกอย่างเป็นแล้วจึงจะได้ออกไปปฎิบัติงาน สมัยก่อนตอนที่ออกไปทำงานจะกลัวศพกับพวกที่ผูกคอฆ่าตัวตายมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยกลัวเพราะเจอมาหลายปีแล้ว เวลาว่างก็จะเอาหนังสือเกี่ยวกับการพยาบาลมาทบทวนเพราะบางทีเวลาผ่านไปอาจจะลืมได้และบางกรณีเจอเคสยากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่จะรู้หรือรักษาได้ก็ต้องโทรถามศูนย์กู้ภัยเพื่อที่จะได้รู้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่
ยังมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครอีกหลายคนที่เข้ามาทำงานด้วยควรอยากรู้ อยากท้าทาย ตามเพื่อนเข้ามาหรือมีใจรักในความช่วยเหลือ โดยจะมีการแบ่งงานกันเป็นช่วง คือมีช่วงเช้ากับช่วงเย็น โดยจะทำงานช่วงละ12ชม. อาสาสมัครก็จะมีการหมุนวนกันมาตามแต่ละวัน วันไหนว่างก็เข้ามาช่วย แต่เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าตลอดเพื่อเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ต่างๆทุกเวลา งานหลักๆก็จะมีเจ้าหน้าที่หรืออาสาฯที่นั่งอยู่ตรงวิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ เพื่อรอรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา มีการประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับงานที่ทำ เช็ครถและอุปกรณ์ทุกอย่างก่อนออกไปปฎิบัติงานและสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่มาทำงานในมูลนิธิคือ ก่อนที่จะออกไปทำงานต้องมีการไหว้ศาลเจ้าขอให้ทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดี
“ เวลาเจอรถกู้ภัยก็ขอให้หลบกันบ้าง เพราะชีวิตคนที่อยู่หลังรถก็อาจจะเป็นพ่อแม่ใครสักคนหนึ่งเห็นใจพวกเขา ”
“ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่กู้ภัย เป็นแค่คนธรรมดาแต่พบเจออุบัติเหตุต่าง ๆ แค่คุณโทรหา1669 ก็เหมือนว่าคุณได้ช่วยเขาแล้ว เจอเหตุอะไรที่คิดว่าไม่ดีก็โทรไว้ก่อนก็ได้ เราพร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือเสมอ ”
“ เวลาขับขี่ต้องมีสติ ระมัดระวัง อย่าใจร้อนในการขับขี่เพราะถ้าเราไม่ชนเขา เขาก็อาจจะมาชนเราแทนก็ได้ “
- เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฯ -