ปัจจุบันการรุกคืบเข้ามาของร้านสะดวกซื้อส่งผลให้ร้านโชห่วยหลายแห่งต้องปิดกิจการลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นการเรียนรู้ถึงปัจจัยความสำเร็จของการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยี ประกอบกับการเรียนรู้พฤติกรรมของร้านโชห่วยเอง แล้วนำมาหาแนวทางการปรับปรุง ซึ่งมีตัวอย่างหลายแห่งที่มีการปรับตัวและสามารถอยู่รอดในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โชห่วย” เป็นคำที่มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ใช้สำหรับเรียกร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อที่มักมีลักษณะอยู่ในตึกแถวหนึ่งห้อง ส่วนมากเป็นกิจการเล็กๆ กิจการในครัวเรือน สร้างรายรับเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน
จากสภาพปัจจุบันของการซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคของคนไทย สอดคล้องกับพฤติกรรมและขนาดของครอบครัวที่เล็กลง โดยในแต่ละครั้งมีจำนวนที่ซื้อไม่มากนัก จึงมักนิยมซื้อในร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะ เป็น เซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท เทสโก้ โลตัสเอ็กซ์เพรส ลอว์สัน แม้กระทั่งร้านมินิมาร์ทในสถานีให้บริการน้ำมันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่แทบทุกต้นซอย กลางซอย เรียกว่าออกจากบ้าน ไม่กี่ก้าว ก็เจอร้านสะดวกซื้อแล้ว แต่ในขณะที่ร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยที่ตั้งอยู่ในตึกแถว อาคารทั่วไป หรือในตลาด ถึงแม้จะใกล้ที่อยู่อาศัย กลับไม่ค่อยมีคนเข้าไปซื้อของ จนหลายร้านต้องปิดตัวเอง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ลุงวิชัย เจ้าของร้านวิชัย
ถาม: ชื่ออะไรครับ ตอบ: ชื่อวิชัย
ถาม: ร้านนี้เปิดมากี่ปีแล้วครับ ตอบ: 15 ปี
ถาม: ร้านสะดวกซื้อที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นส่งผลถึงร้านนี้อย่างไรบ้าง
ตอบ: ลูกค้าลดน้อยลง เพราะเขาขายสินค้าแทบจะทุกอย่าง
ถาม: มีลูกค้าประจำไหม
ตอบ: ยังมีอยู่ ก็แวะเวียนกันมาเรื่อยๆ
ถาม: มีการปรับตัวอย่างไรภายใต้การขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ ตอบ: พยายามขายของที่ร้านสะดวกซื้อไม่มี เราบริการหลายอย่าง จะไม่เหมือนร้านสะดวกซื้อ อาจจะมีขายย่อย บางทีเขาขายเต็มจำนวน
ถาม: ขายของที่ร้านสะดวกซื้อไม่มี เช่นอะไรบ้าง
ตอบ: เช่น ปักป้ายชื่อโรงเรียน การให้บริการเครื่องซักผ้า ตู้เติมน้ำ เป็นต้น และสินค้าของทางร้านจะขายในราคาที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซื้อขายของโดยเน้นไปที่โปรโมชั่น มีของแถมบ้าง แต่ก็ยังขายแพง
อย่างไรก็ตาม การที่ร้านสะดวกซื้อสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้น สิ่งสำคัญคือ การสามารถตอบโจทย์ของลูกค้า และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ อย่างไรก็ตามในอนาคตทิศทางการบริโภค ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ผู้ซื้ออาจจะไม่เดินเข้าร้าน แต่จะเป็นการสั่งซื้อของทางอินเตอร์เน็ต หรือโทรศัพท์มือถือ หรือตามความสะดวกอื่นที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีก็ได้ ดังนั้น หากร้านโชห่วยไม่มีการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ ในอนาคตอาจจะไม่มีร้านโชห่วยให้ได้เห็นอีกต่อไป