top of page
รูปภาพนักเขียนNUTTHANUN KHUENKUM

" มักง่าย " คำสั้นๆที่ทุกคนต่างมองข้าม

อัปเดตเมื่อ 1 พ.ค. 2562

ในปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้คนต่างทราบดีว่าเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองไม่เห็นถึงความสำคัญของมัน

และยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งปัญหานี้แม้จะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมได้ โดยปัญหาที่นำมายกเป็นตัวอย่างในบทความนี้คือ การที่ยังมีคนไม่ปฎิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ทำให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อนผ่านการกระทำที่เกิดจากความ "มักง่าย" หรือ การกระทำที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน บุคคล รวมไปถึงสภาพแวดล้อม ทำให้เห็นได้ว่าแม้เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าเพียงใดแต่ก็ยังมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม


การจอดรถในที่ห้ามจอดนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎจราจร

การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและการเผาขยะเป็นการสร้างหมอกควันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่างภาพสะท้อนอีกด้านของสังคมได้เป็นอย่างดี โดยปัญหาเล็กๆที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม เมื่อรวมกันหลายๆ ปัญหาก็ทำให้สังคมเกิดความไม่มีระเบียบ และกระจายตัวกลายเป็นปัญหาใหญ่ภายในสังคมต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การทิ้งขยะในที่สาธารณะ ขยะเหล่านั้นทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหรือทำให้สถานที่นั้นดูไม่น่าท่องเที่ยว โดยในแต่ละที่อาจจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเก็บขยะจากการที่เราทิ้งเรี่ยราด หรือ การจอดรถในที่ห้ามจอดอาจทำให้เกิดการจราจรที่ติดขัด ทำให้การคมนาคมเกิดปัญหาและส่งผลทำให้รถติดในช่วงเวลา Prime Time หรือชั่วโมงเร่งรีบ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


หลายๆคน อาจแปลกใจที่ในประเทศญี่ปุ่นไม่พบเจอปัญหาต่างๆ เหล่านี้เลย นั่นก็เป็นเพราะว่าประเทศนี้ถูกปลูกฝังระเบียบวินัยที่ดีมาตั้งแต่ต้นและยังมีกฎหมายที่ชัดเจนเด็ดขาด ส่งผลให้ประเทศของเขานั้นมีระบบการจัดการที่ดีและไม่พบเจอปัญหาเหล่านี้ เมื่อเทียบกับประเทศไทย


ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่สะอาดและปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก ทุกๆครั้งที่เราพบเห็นภาพจากในสื่อหรือแม้แต่ภาพจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีคำถามหนึ่งคำถามที่ว่า " ทำไมบ้านเมืองเขาถึงสะอาดและเป็นระเบียบขนาดนี้ "

ประเด็นแรกก็คือที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่มีถังขยะตามข้างทาง เพราะทุกคนถูกปลูกฝังให้มีระเบียบวินัยในการนำขยะของตัวเองไปทิ้งที่บ้าน หรือถ้าหากมีถังขยะมันก็มักจะถูกวางไว้ตรงร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้เราทิ้งขยะในทันทีหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จ

ประเด็นต่อมาคือกฎหมายญี่ปุ่นร้ายแรงมาก ร้ายแรงในที่นี้หมายถึง มีบทลงโทษที่ชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่กระทำผิด ยกตัวอย่างอันที่ง่ายที่สุดที่พบเห็นได้บ่อยในประเทศไทยคือการทิ้งขยะผิดที่ผิดทาง ซึ่งการกระทำผิดนี้เบื้องต้นนั้นทางประเทศญี่ปุ่นจะทำการลงบันทึกประจำวัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลนี้กระทำผิดซึ่งส่งผลทั้นทีทำให้คนญี่ปุ่นนั้นไม่อยากกระทำผิดเนื่องจากจะเสียเครดิตส่งผลต่อการทำงานและชื่อเสียง และตัวอย่างที่สองก็คือ คดีลักทรัพย์ "ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 235 ผู้ที่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ถือเป็นหนึ่งในการโจรกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 เยน (ประมาณ 150,000 บาท)" ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทย "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท" ซึ่งกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นนั้น มีความร้ายแรงกว่ามาก และยังจับหนักจับจริง มีการสอดส่องทุกซอกมุม อีกทั้งการกระทำผิดที่ใหญ่กว่านี้ก็ไม่สามารถประกันตัวด้วยเงินออกมาได้ง่ายๆแบบของประเทศไทย จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

ประเด็นสุดท้ายก็คือประเทศญี่ปุ่นนั้นมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการแยกขยะ โดยห้ามนำขยะประเภทอันตราย นำไปรวมกับขยะประเภททั่วไปเป็นอันขาด ซึ่งในประเทศไทยก็มีการแยกขยะเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีความเด็ดขาดเท่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนั่นก็เป็นคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ากฎระเบียบที่ไม่หนักแน่นพอของประเทศไทยนั่นทำให้ยังมีคนทำผิดอยู่










ผู้เขียนบทความต้องการให้ภาพเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เป็นตัวแทนของข้อความที่ชักชวนให้ผู้คนหันมาสนใจและฉุกคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขให้สภาพสังคมไทยนั้นมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ผู้คนหันมารณรงค์และเห็นความสำคัญของปัญหานี้ที่ควรได้รับความร่วมมือในการแก้ไข ดังนั้นเราควรที่จะสร้างระบบการจัดการและการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนปัญหาต่างๆลง โดยการมีกฎระเบียบ ข้อบังคับและมาตรการการลงโทษที่ชัดเจนมากขึ้น สุดท้ายนี้ผู้เขียนบทความหวังว่าผู้อ่านจะได้ตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในสังคมของเราในปัจจุบันและหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังขึ้น

ดู 430 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page