นับว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมการพ่นสีงานศิลปะบนกำแพงได้รับการยอมรับ และเปิดกว้างอย่างรวดเร็วเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ แต่ยังมีผู้คนในประเทศไทยหลายๆคน ที่เหมารวมการทำงานศิลปะแบบนี้ ไปถึงงานที่ถูกสร้างจากความคึกคะนองของผู้สร้างผลงานอย่างไม่มีความประณีต หรือการทำเพื่อประกาศศักดา ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มและตัวบุคคล โดยปราศจากความสวยงาม และสร้างสรรค์ ทำให้มุมมองของผู้สร้างสรรค์ผลงาน Street Graffiti ในประเทศไทยโดนเหมารวม วันนี้ผมจะพาไปดูปัญหาที่พบ และการทำงานโดยผมได้ติดตามกลุ่ม Street Graffiti ชื่อดังของเมืองเชียงใหม่อย่าง MSV กลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงานระดับประเทศมานับไม่ถ้วน โดยเนื้อหาและรูปภาพที่จะได้เห็นต่อจากนี้เป็นการทำงานศิลปะพ่นบนกำแพงที่จังหวัดพะเยาภายใต้กิจกรรมของกลุ่มที่ชื่อว่า Northwall 3
ทางผมและกลุ่มได้นัดกันจะสร้างสรรค์ผลงาน ที่ตรอกแห่งหนึ่งที่ติดกับตลาดพะเยาอาเขต เมื่อมาถึงกลุ่ม MSV ได้ทำการขนของลงจากรถเพื่อมาวางไว้ในตรอกสำหรับการจัดสรรค์พื้นที่ในการทำงาน แต่การทำงานไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น มีลุงคนหนึ่งได้เดินออกมาจากตรอกซอยพร้อมกับอ้างตนเองว่าเป็นผู้ถือครองตรอกนี้ และไม่อนุญาตให้มาทำงานศิลปะบนกำแพงและทำการจะแจ้งตำรวจ ทั้งๆ ที่งานที่มีอยู่แล้วเป็นงานที่ไม่เสร็จและไม่มีความสวยงาม ทางกลุ่มได้ทำการเจรจาเพื่อจะขอทำงาน และในการเจรจาครั้งนี้ก็มีลุงจากพื้นที่อาศัยแถวนั้นมาช่วยพูดคุยเนื่องจากลุงเป็นคนที่เห็นชอบกับการทำงานครั้งนี้ เพราะกำแพงที่จะทำงานนั้นเป็นกำแพงฝั่งของลุง ในตอนแรกพี่มวย ผู้นำกลุ่มของ MSV ได้ถอดใจและจะไปหาพื้นที่ใหม่ในการทำงานแทน เนื่องจากไม่อยากให้มีปัญหา และทำการเก็บของขึ้นรถ
“ พวกผมมาทำงานที่ไม่ได้หวังผลการตอบแทน และต้องการทำผลงานให้สภาพแวดล้อมมีความสวยงามจากที่เป็นอยู่ ถ้าจะให้ผมแอบทำตอนกลางคืนก็ทำได้ แต่นี่คือพวกผมบริสุทธิ์ใจและอยากจะทำงานชิ้นนี้จริง ๆ “
ด้วยการเจรจาที่แสดงรายละเอียดของงาน โดยการนำผลงานให้ดู และแสดงความน่าเชื่อถือของกลุ่มให้ลุงและผู้คนแถวนั้นดู ทำให้ได้รับการอนุมัติทำงานได้ จึงจำเป็นต้องยกของลง และรีบแบ่งหน้าที่จัดเตรียมของอีกครั้ง และทุกการกระทำของกลุ่ม MSV ได้ถูกมองทุกกระบวนการจากลุงและคนรอบข้างอย่างเข้มงวด
แต่ในท้ายที่สุดการทำงานก็ผ่านไปได้ด้วยดีโดยได้รับความช่วยเหลือจากลุง และป้า ที่อาศัยอยู่ในระแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อน้ำ ให้ยืมบันได หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้งานสำเร็จออกมาตามที่ตั้งหวังไปใครที่อยากดูผลงานให้ติดตามได้ที่เพจ MSV ได้เลยครับ
ถึงแม้ว่าจะมีคนชื่นชอบในผลงานและเปิดรับการสร้างสรรค์ผลงานสตรีทอาร์ท แต่ก็มีบางส่วนที่ยังปฎิเศษการทำผลงานศิลปะสไตล์นี้อยู่มาก ทางผมผู้เขียนจึงได้ลงพื้นที่ในบริเวณเมืองเชียงใหม่เพื่อหาผลงานที่ดูจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำงาน และสอบถามถึงผู้คนในระแวกนั้นเพื่อถามหาความรู้สึกที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานสตรีทอาร์ทกราฟฟิตี้
ทุกพื้นที่ที่ผมไปถ่ายมาไม่ว่าจะเป็นกำแพงบ้านกำแพงหอพักในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมเลือกพื้นที่ที่ผู้คนเห็นได้ง่ายและเข้าไปสอบถามคนระแวกนั้น
จากที่สอบถามผู้คนที่สัญจรไปมา 20 กว่าท่าน โดยผมถามไปที่ความรู้สึกต่องานในพื้นที่ พร้อมเปรียบเทียบกับงานที่สวยงามและมีเรื่องราวของกลุ่ม MSV โดยได้คำตอบกลับมาหลากหลาย แต่ส่วนมากก็จะตอบคล้ายๆกันว่ามีงานมันก็สวยดี " แต่ขอทำแบบดีๆเลยได้ไหม ไม่ใช่อยากจะทำก็ทำ เพราะบางครั้งเจ้าของพื้นที่หรือใครที่อยู่แถวนั้นเค้าเดือดร้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากสเปรย์ฉีดหรือการขีดขวางจราจร ทำลายสิ่งของพื้นที่ส่วนบุคคล อยากทำก็อยากให้ทำแบบถูกต้อง " สุดท้ายผมเลยอยากให้ฝากคำถามไปถึงกลุ่มสตรีทกราฟฟิตี้ว่าต้องการถามอะไรไหม
คำถามที่ผมคัดเลือกมาทั้งหมดมีอยู่ 8 คำถามด้วยกัน โดยคนที่ตอบคำถามเหล่านี้ผมได้เลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม MSV ขึ้นมาตอบเพราะต้องการคำตอบจากคนในวงการจริงๆ
โดยผมได้อธิบายถึงที่มาของคำถาม ที่มาจากผู้คนและต้องการถามกลุ่มสตรีทกราฟฟิตี้ให้ปิงได้รับทราบ โดยคำถามแรกที่ผมเริ่มถามคือ
ทำเพื่ออะไร ?
หนึ่ง มันคือทำงานศิลปะชิ้นนึงเพื่อตอบสนองตัวศิลปินเองอยู่แล้ว และสอง คือเพื่อตอบสนองต่อสังคม เพราะว่ามันเป็นงานที่เข้าถึงง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการที่จะสื่ออะไรต่อสังคม เราวางแผน ร่างภาพ แล้วออกไปพ่นว่าเรามีความคิดเห็นกับประเด็นไหน สิ่งแวดล้อม การเมือง หรือเหตุการณ์ต่างๆ
เอาของมาจากไหน พวกสเปรย์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ?
100 % เลย ถ้าไม่ใช่โปรเจคที่มีคนจัดอีเว้นท์หรือสปอนเซอร์เข้ามา คือออกเองทั้งหมดมันเหมือนศิลปินที่ทำงานศิลปะ อยากเขียนสีน้ำ ก็ซื้อสีน้ำมาเขียน อยากวาดรูปก็ซื้อกระดาษดินสอมาวาด เพียงแต่ว่านี่คือใช้สเปรย์ก็เลยต้องซื้อสีสเปรย์ในการทำและออกเองทั้งหมด
ในการทำงานแต่ละสถานที่ได้ขอสถานที่และมีงานที่ไม่ขอหรือไม่ไหม ?
ส่วนมากในพื้นที่ ที่ผลงานอยู่กับชุมชนและสาธารณะมากๆ คือมีการขออยู่แล้ว เพราะเวลาทำงานมันโจ่งแจ้ง เราจะหลีกเลี่ยงการปะทะให้ได้มากที่สุด (หัวเราะ) ส่วนที่ที่ไม่ขอแล้วทำ ส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่จะเป็นการทำงานโดยการขอเพราะคนเชียงใหม่จะใจดี เดินไปขอ ลุงครับ ป้าครับ ใกล้ชิดมากกว่า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปทำลายทัศนคติว่าเห้ยคนพวกนี้มาทำอะไรวะ ? ส่วนมาก 70 % เลยให้และยังมีการสนับสนุนพวกน้ำเครื่องดื่ม ขนม อันนี้คือยกตัวอย่างในเชียงใหม่นะ เพราะกลุ่มพวกผมการทำงานต้องใช้เวลาเพราะมันไม่ใช่งานที่ต้องการเผยคาแรคเตอร์ตัวเอง มันเป็นงานที่ต้องการสื่ออะไรบางอย่างต่อสังคม
แต่ในกรุงเทพที่ไม่ขอก็มี เช่นตามที่รกร้าง ก็คือลุยเลย บางครั้งก็ทำเสร็จแล้วกลับ แต่ด้วยกฎหมายบ้านเรายังไม่เปิดเท่าที่ควร บางครั้งก็มียามหรือตำรวจเจ้าหน้าที่เข้ามาทักถาม ขออนุญาติยัง มาทำอะไรตรงนี้ก็จะเกิดปัญหาได้ ก็มี (หัวเราะ)
ที่ทำอยู่นั้นได้รายได้ไหม หรือมีรายได้จากทางอื่น ?
เอาจริงๆในส่วนของการพ่นที่ทำอยู่เนี่ย ถ้าถามถึงรายได้ก็เปรียบเหมือนกับว่าเราคือช่างนะ พวกทำตกแต่งภายในอะไรแบบนี้เป็นจ๊อบๆ อีเว้นท์ไป แต่ถ้าตัดรายได้ออกไปพวกเราก็คือศิลปินธรรมดา ก็คือเอาเงินจากจ๊อบนั่นแหล่ะ มาสร้างสรรค์ผลงาน ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็มีคือหาเงินจากจ๊อบมาลงที่การทำผลงานส่วนตัวก็มี หรือบางคนมีงานส่วนตัวแล้วการพ่นสตรีทกราฟฟิตี้เป็นงานศิลปิน แล้วเอารายได้จากงานส่วนตัวมาลงที่การพ่นก็มี ส่วนยกตัวอย่างพี่มวย ก็คือเอารายได้จากการพ่นมาลงที่การทำงานส่วนตัวแบบไม่ต้องออกด้วยตัวเองเลยก็มีดังนั้นต้องเก่งแล้วทำผลงานเยอะๆมากพอ ก็อาจจะทำเป็นอาชีพหลักได้ก็มี
ระหว่างการทำงานเคยโดนจับหรือมีปัญหาไหม ?
เยอะ (หัวเราะ) แบบภาษาเกมที่เขาเรียกกันว่า เปิดแมพ ใช่ปะ เช่นตัวอย่างตอนที่อยู่กรุงเทพ นี่จะพ่นในเขตโซนรังสิต ถ้าทำในรังสิตจะไม่มีใครว่าแต่ถ้าไปเปิดแมพในถิ่นอื่น โดนแน่นอน แล้วการแก้ปัญหาเบื้องต้นเลย ดูก่อนว่าคนที่ทัก หรือมีปัญหาด้วยคือใคร ก็เข้าไปพูดคุยเลย ยื่นพอร์ท โปรไฟล์ อนุญาติไหม ถ้าไม่ ก็คือกลับเลย ส่วนถ้าพื้นที่ที่เราพ่นคนที่มาทักท้วงเป็นคนที่ถูกฝากมาดูแลมาขอร้องคือเราจะกลับเลยเพราะลดแรงปะทะเพราะคิดว่าคนทั้งวงการตอนนี้พยายามจะลดแรงปะทะให้มากที่สุด เพื่อปรับความเข้าใจต่อผู้คนให้ได้มากที่สุด
นอกจากการพ่นสเปรย์คิดจะทำอย่างอื่นไหม เช่นการเพ้นท์ วาด แทน ?
จริงๆต้องบอกก่อนว่าที่ทำอยู่มันคือสตรีทอาร์ท ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ และเคยทำ ถ้าให้ทำในผลงานศิลปะลงแกลลอรี่ ทำอย่างอื่นก็ทำได้ แต่ถ้ามาอยู่ที่พื้นที่สาธารณะสิ่งที่เข้ามือ ถนัดที่สุดคือการพ่นสเปรย์ เคยมีครั้งนึงที่กรุงเทพเขตคลองเตย เคยเตรียมงานอะไรไปพร้อมพ่น แต่ไปถึงมีเด็กเยอะมากๆเราไม่อยากจะแก้วิธีโดยการแจกหน้ากากแล้วพ่นงาน เราเลยเปลี่ยนจากพ่นมาเป็นเพ้นท์ในหน้างานก็มีเหมือนกัน
ในประเทศไทย มันมีพื้นที่เฉพาะไหม เช่นการสร้างตึกเพื่อให้ทำงานกราฟฟิตี้ ?
ในไทยตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามีเลยนะ แบบคนที่รักในกราฟฟิตี้แล้วสร้างแกลลอรี่ขึ้นมาเพื่อให้ศิลปินมาพ่นมา Bomb งานใส่กัน แต่ถ้าในต่างประเทศทั่วโลกนี่คือเยอะมาก เยอะแบบเยอะจริงๆ ในไทยส่วนมากก็คือเค้าจัดอีเวนท์มาแล้วทำกำแพงให้เราไปพ่นให้หน่อยแค่นั้น ไม่มีการ Bomb หรือเปิดโอกาศให้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ไม่มีเลย
เคยมีการทะเลาะกับกลุ่มหรือทีมอื่นในการทำงานหรือ Bomb ผลงานกันไหม ?
โห เยอะมาก (หัวเราะ) มีทั้งทะเลาะเล็กๆจนไปถึงทำร้ายร่างกายกันก็มี นึกภาพก็เหมือนในเกม GTA San Andreas ที่แบ่งเป็นกลุ่มแก๊งแบ่งเขตไล่พ่นยึดพื้นที่ นี่เคยพ่นๆในกรุงเทพแล้วเจอเจ้าถิ่นวิ่งมาถาม มาบอมอะไรงานกู ถืออิฐมาด้วยนะ แต่มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าการ Bomb 24 hrs นะ มันคือการที่มีคนมา Bomb ผลงานเรา แล้วเรา Bomb ผลงานทับในวนต่อมาทันที ถ้าอีกฝ่ายยังไปไล่ Bomb ผลงานเราที่อื่นอีกนี่คือไม่ใช่แล้ว มันจะมีเหตุการณ์โดน Bomb ผลงานทั้งเมืองในคืนเดียวก็ยังมี ในเชียงใหม่นี่ก็มีคนโดนไปแล้วแต่ขอไม่บอกละกันว่าใคร แต่มี คืนเดียวงานหายทั้งคืน (หัวเราะ)
590310206
พีรพันธ์ ร้อยแก้ว
เขียนและภาพ
Commenti