“ตรัง” จังหวัดเล็กๆที่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล แต่ตรังยังมีดีเรื่องของกิน
เมื่อพูดถึงตรัง สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง คงเป็นหมูย่างเมืองตรังที่เป็นของขึ้นชื่อ เนื้อนุ่มๆ หนังกรุบกรอบ แต่จริงๆแล้วจังหวัดตรังนั้นมีอาหารที่น่าสนใจอีกมากมาย เมืองตรังเป็นอีกหนึ่งเมืองในภาคใต้ที่มีความหลากหลายและมีการผสมผสานของชาติพันธุ์ เช่น ชาวแขก ชาวมลายู โดยชาวจีนโพ้นทะเลเป็นอีกกลุ่มชนชาติหนึ่ง ที่สร้างอิทธิพลโดยตรงทั้งในด้าน วัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ รวมถึงวิถีชีวิต
ร้านที่ฉันพาไปกินไม่ใช่ร้านอร่อยหรือขึ้นชื่อมากที่สุด แต่ฉันจะเลือกที่นี่ เพราะร้านนี้สามารถเล่าถึงวัฒนธรรมการกิน การเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนตรังได้เป็นอย่างดี
1
อิ่วจาโกย
พามาที่ร้านดั้งเดิมอายุมากกว่า 50 ปี ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่าร้านซินจิวไม่มีทิชชู่ให้ เนื่องจากสมัยก่อนชาวสวนยางพารามักจะรอฟังประกาศราคายางทางวิทยุทำให้ร้านมักจะตั้งกระดาษที่เรียกว่า กระดาษห่อหมูย่าง แทนที่จะเป็นทิชชู่ เพราะมันสามารถจดราคายางพาราได้นั่นเอง ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อิ้วจาโกย หรือที่หลายคนเรียกว่า ปาท่องโก๋ แต่ชื่อที่ถูกต้องคือ อิ่วจาก้วย เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว อิ้ว ก็คือน้ำมัน จา คือทอด ส่วน โกย คือแป้ง ส่วน ปาท่องโก๋ เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ออกเสียงว่า ปาท่องโก๋มันแปลว่า ขนมน้ำตาลสีขาวนั่นเอง
การกินแบบชาวตรังนั้นต้องใส่ขนมจีบเข้าไปในอิ้วจาโกย ราดด้วยซอสกำเจือง (ค้อมเจือง) เป็นน้ำจิ้มประจำจังหวัด มักใช้ทานคู่กับของคาว
2
เจี่ยหล่งติน
ร้านเจี่ยหล่งติ่น เป็นร้านที่ขายเฉพาะขนมพื้นเมืองและขนมมงคล มีขายทั้งขนมปั้นสิบ ขนมจีบสังขยา ขนมถั่วต่างๆ และขนมงาพอง หรือเรียกอีกอย่างว่า ขนมม่อหลาว ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองของชาวจีนฮกเกี้ยนในตรังและภูเก็ต ลักษณะเป็นเนื้อกรอบเหนียว ข้างในกลวง
สิ่งที่ฉันเคยกินตั้งแต่เด็กนั่นคือ วุ้นม้วน เป็นวุ้นที่ทำมาจากวุ้นแผ่นบางๆ นำมันมาม้วน แล้วตัดด้วยมีดทองเหลือง สัมผัสจะมีความกรุบของวุ้น ชวนให้กินได้แบบไม่หยุดปาก
3
กินซาลาเปาแบบปอกเปลือก
การกินซาลาเปาของคนตรังนั้น ต้องลอกแป้งที่เป็นเปลือกนอกของซาลาเปาออก ด้วยเหตุผลที่ว่าผิวนอกสุดของซาลาเปาอาจผ่านมือคนมา ทั้งจากคนขายที่หยิบจับตอนเสิร์ฟ และจากลูกค้าที่มานั่งทานในร้าน เนื่องจากซาลาเปาในตรังนั้น คนขายจะเสิร์ฟซาลาเปาใส่จานให้กับลูกค้าทุกโต๊ะเหมือนกัน นั่นคือเสิร์ฟแบบรวมไส้ทุกชนิด ทั้งไส้หมู ไส้สังขยา และไส้งาดำ ลูกค้าที่มาทานสามารถเลือกได้เองว่าอยากทานไส้ไหน ส่วนร้านค้าจะคิดเงินเฉพาะซาลาเปาลูกที่ทานไป ส่วนลูกที่เหลือจะนำไปเก็บ เพื่อนำไปนึ่งใหม่ และเสิร์ฟให้กับลูกค้าโต๊ะอื่นต่อไปได้
การกินซาลาเปาแบบปอกเปลือกเป็นวิถีการกิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า เป็นคนที่มีพื้นเพเป็นคนใต้ที่อยู่ในครอบครัวชาวจีน ซึ่งได้ส่งต่อวิธีการกินซาลาเปาแบบปอกเปลือก มาจากคนรุ่นอากง อาม่า แม้ว่าในปัจจุบันนี้รูปแบบการผลิตและการขายซาลาเปาจะเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมมากขึ้นแล้ว คนตรังก็ยังคงติดนิสัย ‘ปอกเปลือก’ ซาลาเปาก่อนกินอยู่เช่นเดิม
620310202
ฐิศรา กิตติบุญญาทิวากร
Comentários