หากกล่าวถึงแมลงขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายผึ้ง หรือ ชันโรง(ชัน-นะ-โรง) หลายคนอาจนึกถึงมันไม่ออก แต่หากพอพูดว่า ผึ้งจิ๋ว ที่อาศัยตามดินตามโพรงไม้ อาจนึกออกได้โดยทันที เพราะสามารถพบมันได้ในธรรมชาติทั่วไป ชันโรง เรียกกันในภาษาเหนือว่า ขี้ตั๋งนี
ชันโรง เป็นแมงลงจำพวกผึ้งที่มีขนาดเล็กไม่มีเหล็กใน เป็นสัตว์สังคมกึ่งสันโดด และมีวิวัฒนาการล้าหลังกว่าผึ้งพันธุ์ คือ มีวรรณะเหมือนผึ้งพันธุ์ แต่เวลาหาอาหารจะแยกกันหาในรัศมีห่างจากรังไม่เกิน 300 เมตร ต่างจากผึ้งพันธุ์ คือ เวลาที่หาอาหาร ผึ้งตัวที่พบแหล่งอาหารจะส่งสัญญาณให้ผึ้งตัวอื่นทราบโดยการเต้นรำ และออกหาอาหารห่างจากรังไกล 1-3 กิโลเมตร
ชันโรง จะไม่เลือกชนิดดอกไม้ที่ตอม เก็บเกรสร 80% น้ำหวาน 20% ส่วนผึ้งพันธุ์จะเลือกตอมดอกไม้เพียงบางชนิด และเก็บเกสรและน้ำหวานอย่างละเท่าๆกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงมีสีเข้ม มีรสชาติติดเปรี้ยว มีกลิ่นจากดอกไม้ที่ชันโรงตอมมา
น้ำผึ้ง จากชันโรงถือว่าเป็นน้ำผึ้งคุณภาพมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท เพราะเชื่อกันว่าเป็นน้ำผึ้งสมุนไพร เนื่องจากมีส่วนผสมของชันผึ้ง(propolis) ที่ชันโรงนำมาสร้างเป็นถ้วยเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งมีคุณสมบัติในทางการแพทย์ คือ มีวิตามินB1,B6 มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาโรคผิวหนัง นำมาเป็นส่วนผสมในการถนอมอาหาร ชันผึ้งที่ได้จากชันโรงจะมีปริมาณมากกว่าชันผึ้งที่ได้จากผึ้งพันธุ์
ชันผึ้ง นอกจากจะมีคุณสมบัติทางการแพทย์แล้ว คนสมัยก่อนใช้ยาอุดรอยรั่ว ยาเรือ ใช้อุดเครื่องดนตรี เช่น แคน ใช้ติดลูกระนาดกับระนาด
นอกจากนี้ชันโรงยังใช้ช่วยผสมเกสรพืชป่าและพืชทางการเกษตร เช่น ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มะพร้าว แตงกวา ฟักทอง เมล่อน สตอเบอรี่ ทานตะวัน เป็นต้น ทำให้อัตราการติดผลเพิ่มขึ้น 80-90%
ในทวีปแอฟริกาใต้ และอเมริกากลาง มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับชันโรงมากมาย เช่น การศึกษาคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรงที่เริ่มหมักบูดระยะแรกว่า มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
ในญี่ปุ่นไม่สามารถเพาะเลี้ยงชันโรงได้ เพราะชันโรงไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศในฤดูหนาวของญี่ปุ่นได้
การเลี้ยงชันโรงในไทยยังไม่เป็นที่นิยมนักเหมือนการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ มีการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นแมลงผสมเกสรในพืชเศรฐกิจอยู่บ้าง ทั้งๆที่การเลี้ยงชันโรงมีประโยชน์มากกว่าการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมากจาก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตร หรือการนิยมปลูกแต่พืชชนิดเดียวกันทั้งสวน ทำให้ชันโรงไม่มีอาหารในช่วงที่พืชไม่ได้ออกดอก จึงทำให้ชันโรงตายไป การให้น้ำหวานที่น้อยและช้ากว่าผึ้งพันธุ์ คือ ผึ้งพันธุ์ใช้ระยะเวลา 3-4 เดือนขึ้นไป แต่ชันโรงใช้ระยะเวลา 5-6 เดือน ในการให้น้ำหวาน อีกทั้งปัจจุบันศูนย์ชันโรง หรือสถานที่เลี้ยงชันโรงยังมีน้อย
Comments