top of page
รูปภาพนักเขียน.doc team

On The Way ระหว่างทาง



“เก๊ง เก๊ง” เสียงระฆังเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว


“ฉึกฉัก ฉึกฉัก” เสียงคุ้นหูที่ได้ยินทุกครั้งเมื่อล้อรถไฟเริ่มเคลื่อนตัว สายลมที่ปะทะใบหน้ายามที่รถไฟวิ่งจนทำให้ผมพันกัน แสงแดดอุ่นๆ ยามเช้าที่ส่องเข้ามาในโบกี้ กลิ่นสนิมเหล็กของรถไฟที่ติดตัวอย่างยาวนานแม้จะอาบน้ำ 3 รอบก็ตาม กลิ่นหญ้าข้างทาง และวิวนอกหน้าต่างที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความเร็วของรถไฟ คือสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของฉันตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน




“รถไฟ รถไฟมา ตา ตามา ตามารถไฟ

กล้า กล้าดูรถไฟ แก้ว แก้วดูรถไฟ

ตาขึ้นรถไฟมาหากล้า

ตาขึ้นรถไฟมาหาแก้ว”


ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับบทอ่านข้างต้นนี้ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ฉันได้รู้จัก “รถไฟ” ฉันยังจำได้ดีว่า รถไฟ อยู่ในบทเรียนแรกของหนังสือภาษาไทย ป.1 ฉันยังเคยถามคุณครูว่า “ครูคะ รถไฟมีกี่ขา ?” ตอนนั้นเพื่อนในห้องบางคนก็สงสัยเหมือนกับฉัน แต่บางคนก็หัวเราะเสียงดังกับคำถามนั้น หลังจากนั้นฉันจึงคะยั้นคะยอขอให้แม่พาไปดูรถไฟเป็นการใหญ่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น






รถไฟอาจจะอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คนตั้งแต่เด็ก แต่ความจริงคนไทยเราผูกพันกับรถไฟมาช้านานกว่า 120 ปีมาแล้ว แม่เคยเล่าให้ฟังว่าเดิมทีคนไทยสมัยก่อนไปไหนมาไหนโดยใช้เรือ เพราะวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาก ผู้คนจึงอาศัยทางน้ำมากกว่าทางบก



กระทั่งในปี พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้นำรถไฟเข้ามาใช้ในประเทศไทย ผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถไฟ เพราะว่าสะดวกรวดเร็วในการสัญจรและขนส่งสินค้า ดังนั้นรถไฟจึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ของเรามาแล้ว


ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เดินทางโดยรถไฟมาตลอด ถึงแม้ว่ารถไฟไทยจะถูกขนานนามว่า “หวานเย็น” เพราะวิ่งช้าและรางรถไฟเป็นรางเดี่ยวจึงต้องหยุดรอรถสวนกันก่อนแล้วจึงวิ่งต่อได้ ทำให้มาถึงสถานีสายเป็นประจำ แต่แม่บอกเสมอว่า “รถไฟปลอดภัยที่สุด” ดังนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม แม่จะให้นั่งรถไฟเสมอ







ทุกครั้งได้นั่งรถไฟฉันจะได้พบเห็นผู้คนหลากหลายอาชีพ หลายชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีคนขึ้นมาขายของเป็นระยะๆ ราวกับเป็นจุดนัดพบของเหล่าขาจรจากทั่วสารทิศ ฉันได้พูดคุยกับพวกเขา และถามเขาว่า “ทำไมถึงเลือกนั่งรถไฟ ทั้งที่ในปัจจุบันมีรถสาธารณะอื่นที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่ารถไฟ ?”



หลายคนตอบว่า ชอบมองวิวนอกหน้าต่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และได้เห็นภูมิประเทศที่แตกต่างกันไปเมื่อรถไฟวิ่งผ่าน บางคนก็สนุกกับการได้พบปะกับ “เพื่อนเดินทาง” ที่นั่งฝั่งตรงข้าม ที่ไม่ใช่เพียงแค่นั่งโดยสารไปด้วยกันเท่านั้น แต่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในขณะที่คนนั่งรถทัวร์หรือเครื่องบินทำได้เพียงแค่นั่งฟังเพลงเงียบๆ คนเดียวแล้วหลับไป เพื่อไม่ให้รบกวนคนอื่น


ส่วนตัวฉันเองเป็นคนชอบกินตลอดเวลา จึงชอบเวลามีคนขึ้นมาขายอาหารบนรถไฟ เพราะสามารถซื้อกินได้ทันที แม้จะกินอาหารที่มีกลิ่นแรงก็ไม่มีใครว่าเพราะทุกคนต่างก็ซื้อมากินเหมือนกัน






นอกจากนี้ฉันยังได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำงานรถไฟด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถไฟ พนักงานทำความสะอาดบนขบวนรถ แม้กระทั่งนายสถานีที่ชานชาลา และสารวัตรรถจักรที่ทำงานในโรงซ่อมรถจักร ฉันถามพวกเขาว่า “ทำไมถึงเลือกทำงานรถไฟ ?” เขาบอกว่า “ทั้งปู่ ทั้งพ่อ ต่างก็เกิดและโตมาในครอบครัวรถไฟ พวกเราลูกหลานรถไฟก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่” บางคนบอกว่า “ผมชอบรถไฟ จะไปไหนก็ขึ้นรถไฟตลอด รู้สึกผูกพันก็เลยตัดสินใจมาทำงานที่นี่”



​​

มีพี่คนหนึ่งบอกว่า “ปัจจุบันนี้รถไฟเราถูกมองว่าล้าหลัง ไม่พัฒนา ทั้งที่สมัยก่อนรถไฟเปรียบเสมือนเครื่องบ่งบอกความเจริญของภูมิภาคนั้นๆ หากรถไฟเข้าถึงภูมิภาคใด แสดงว่าที่นั่นมีความเจริญ เป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ในอดีต ทำให้คนรถไฟในปัจจุบันได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งเราก็ไม่เคยแพ้ใครและเกิดความภาคภูมิใจในองค์กรของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงอยากอนุรักษ์สิ่งนี้ไว้ให้นานเท่านาน เพื่อเล่าให้ลูกหลานรถไฟได้ฟัง”


สิ่งที่ฉันสัมผัสได้จากการพูดคุยกับพวกเขาคือความรู้สึกชอบและผูกพันกับรถไฟ ทุกคนดูสนุกกับการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ ทำให้ฉันรู้สึกสนุกไปด้วย


บรรยากาศเหล่านี้ทำให้รถไฟเป็นมากกว่ายานพาหนะที่ทำหน้าที่ส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมาย แต่เปรียบเสมือนศูนย์รวมความหวังและจุดหมายในการเดินทางของผู้คนมากมาย ได้ส่งผ่านประสบการณ์ของผู้คนในโบกี้ไปจนถึงสิ่งที่อยู่นอกหน้าต่าง ทำให้ผู้คนได้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้สัมผัสกับรสชาติของผู้อื่น และได้รับประสบการณ์มากมาย รถไฟทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าความสนุกของการเดินทางไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่อยู่ที่ “ระหว่างทาง” ต่างหาก นี่แหละความพิเศษของรถไฟบ้านเรา


ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ครูโขน

GROUPIE

bottom of page