ถ้าหากพูดถึงสัปเหร่อแล้ว เราคงจะนึกถึงตาลุงแก่ๆที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเครื่องรางของขลังหรือคาถาอาคมต่างๆ แต่ทว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ได้มีอยู่ในตัวของสัปเหร่อหนุ่มคนนี้เลยแม้แต่น้อย ในเมื่อไม่มีเครื่องรางของขลังหรือคาถาอาคมป้องกันตัว แล้วเขาจะมีวิธีการจัดการทำหน้าที่สัปเหร่อโดยไร้ซึ่งความกลัวได้อย่างไร
“อ้ายต๋อง” หรือนาย วิชาญ ธรรมเสนเป็นชื่อที่ชาวบ้านระแวกนั้นใช้เรียกแทนตัวของเขา อ้ายต๋องทำอาชีพเป็นสัปเหร่อตั้งแต่อายุยังน้อยๆโดยสืบทอดอาชีพมาจากพ่อผู้เป็นสัปเหร่อ ปัจจุบันอ้ายต๋องมีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น แต่เรื่องประสบการณ์ที่อ้ายต๋องสั่งสมมานานนับ 10 ปีนั้น สามารถการันตีได้เลยว่า การปฎิบัติหน้าที่สัปเหร่อของเขาไม่แพ้พวกคนแก่ที่มีอายุมากกว่าอย่างแน่นอน
เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งร่างอันไร้วิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์ อ้ายต๋องจะเป็นผู้รับหน้าที่นำพาร่างนั้นขึ้นไป ท่ามกลางเสียงร้องไห้คร่ำครวญของบรรดาญาติมิตรซึ่งเป็นการบอกลาครั้งสุดท้าย
"อ้ายต๋องกำลังทำพิธีล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว ด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ นำมาล้างหน้าศพเพื่อขจัดมลทิน เอากุศลกรรมและล้างอกุศลกรรมออกไป"
สองมือนำร่างอันไร้วิญญาณใส่เข้าไปในเตาที่เต็มไปด้วยเปลวไฟ ด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง ปากก็ท่องสวดคาถางึมงำ
ในเวลาหลังจากพิธีกรรมฌาปนกิจเสร็จสรรพ ผู้คนเริ่มทยอยแยกย้ายกันกลับไป ก็ยังมีอ้ายต๋องที่ต้องคอยจัดการพลิกร่างศพที่อยู่ภายในเตาเผา เหงื่อไคลที่กำลังหยดย้อยเนื่องมาจากความร้อนของเปลวไฟไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่เลย เมื่อไฟมอด ร่างอันไร้วิญาณแหลกสลาย เหลือไว้เพียงเถ้ากระดูกสีขาวหม่นปนสีเทา อ้ายต๋องคนเดิมก็ต้องมาเก็บชิ้นเถ้ากระดูกที่ยังไม่มอดเพื่อนำมาทำพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาต่อไป
"อ้ายต๋องกำลังทุบเถ้ากระดูก เพื่อนำมาบรรจุในกระบอกเหล็กที่ใส่ดินปืนไว้ แล้วจึงจุดชนวน เพื่อเป็นการส่งวิญญาณของผู้ตายขึ้นสู่สรวงสวรรค์เป็นครั้งสุดท้าย ตามความเชื่อ"
ในวันที่ไม่มีการฌาปนกิจนั้น อ้ายต๋องก็จะคอยเก็บกวาดดูแลรักษาความสะอาดของสุสานอยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการฌาปนกิจในวันต่อไป
"เรื่องเครื่องรางของขลังไม่จำเป็นเลย เพราะพระท่านอยู่ในจิตใจเราเสมอ ถ้าหากเราปฏิบัติดีมันก็ไม่มีอะไร"
อ้ายต๋องกล่าว
อาชีพสัปเหร่อในปัจจุบัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนแก่ที่มีอายุมาก วัยรุ่นก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ เพียงแค่ต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และปฏิบัติตามประเพณีของสัปเหร่อที่สืบทอดกันมาให้ถูกต้อง โดยจะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ มั่นคงบวกกับประสบการณ์ที่เพียงพอก็สามารถเป็นสัปเหร่อได้